ข่าวใหญ่มากในวงการไอทีสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการปิดเว็บไซต์ฝากไฟล์-แชร์ไฟล์ชื่อดังอย่าง Megaupload โดยทางการสหรัฐ...

งานนี้ไม่ใช่การปิดเว็บธรรมดา ๆ เพราะคนสั่งปิดคือกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และข้อหาคือ Megaupload เป็น “องค์กรอาชญากรรมระดับนานาชาติ ที่ส่งเสริมการละเมิดลิขสิทธิ์”

เท่านี้ยังไม่พอ ผู้บริหารระดับสูงของ Megaupload จำนวนสี่คนโดนจับที่ประเทศนิวซีแลนด์ในข้อหาอาชญากรด้านละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องส่งตัวกลับสหรัฐฯ และทรัพย์สินของบริษัท (ซึ่งจดทะเบียนในฮ่องกง) ถูกอายัด

การปิด Megaupload ครั้งนี้เป็นปฏิบัติการของ FBI ร่วมกับตำรวจใน 8 ประเทศที่ Megaupload มีธุรกิจและทรัพย์สินอยู่

ถ้าเข้าเว็บ Megaupload ในตอนนี้ จะเห็นข้อความเตือนของ FBI ว่าเว็บไซต์นี้ถูกปิดโดยคำสั่งศาลของสหรัฐ



เหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตะลึงต่อวงการไอทีมาก เพราะปฏิบัติการปิดเว็บ-จับผู้บริหารครั้งนี้ใหญ่และแรงมาก และก่อให้เกิดคำถามว่า FBI มีอำนาจปิดเว็บได้ขนาดนี้จริงๆ หรือ (ซึ่งทั้งหมดจะไปเฉลยในขั้นตอนการดำเนินคดีที่สหรัฐ)

ส่วนเหตุผลที่ Megaupload โดนปิดก็มาจากการละเมิดลิขสิทธิ์จริงครับ แต่ต้องอธิบายเพิ่มนิดนึงว่าเว็บไซต์ฝากไฟล์ลักษณะเดียวกันนี้มีค่อนข้างเยอะ และเว็บไซต์ทุกรายหนีไม่พ้นที่จะมีไฟล์หนัง เพลง โปรแกรม ฯลฯ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมาก (ผมไม่มีสถิติแต่ส่วนตัวเชื่อว่าเกินครึ่งแน่นอน)

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ฝากไฟล์ส่วนใหญ่มีนโยบายต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ในระดับหนึ่ง นั่นคือถ้ามีคนแจ้งมาว่า ไฟล์นี้ละเมิดลิขสิทธิ์ ทางเว็บไซต์ก็ยินดีลบให้ มิหนำซ้ำ บางเว็บก็มีระบบตรวจจับไฟล์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์บ่อยๆ และลบไฟล์เหล่านี้โดยอัตโนมัติอีกด้วย

...



แต่กรณีของ Megaupload และเว็บไซต์ฝากไฟล์อีกจำนวนหนึ่ง จะหารายได้จากการให้ดาวน์โหลดไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์นั่นเอง โดยผู้ใช้ทั่วไปสามารถดาวน์โหลดไฟล์ที่อยู่บน Megaupload ได้ฟรี แต่มีข้อจำกัดประมาณหนึ่ง เช่น ดาวน์โหลดได้ครั้งละ 1 ไฟล์ หรือ สามารถดาวน์โหลดได้แค่ 1 ไฟล์ต่อทุกๆ 3-6 ชั่วโมง เป็นต้น ทำให้ “ผู้ใช้ใจร้อน” ที่อยากได้ไฟล์เหล่านี้ (ซึ่งส่วนใหญ่ละเมิดลิขสิทธิ์) ยอมจ่ายเงินซื้อสิทธิการใช้งานแบบพรีเมียม ที่ไม่จำกัดการดาวน์โหลด จะได้โหลดเร็วๆ สะใจเต็มที่

Megaupload นำเคล็ดตรงนี้ไปพัฒนาเป็นโมเดลการหารายได้ต่อ นั่นคือ ผู้ใช้คนไหนที่อัพโหลดไฟล์ (ซึ่งส่วนมากละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน) ขึ้นไปแล้วกลายเป็นไฟล์ยอดนิยม เช่น หนังใหม่ล่าสุด เพลงยอดฮิต ฯลฯ จะได้สิทธิประโยชน์สารพัดจากเว็บไซต์ ซึ่งในหลายกรณีรวมไปถึงเงินสดด้วย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้หาไฟล์แปลกใหม่มาไว้บน Megaupload ต่อไป และเว็บไซต์จะได้มีคนจ่ายเงินเพื่อซื้อสิทธิดาวน์โหลดมากยิ่งๆ ขึ้น

พฤติกรรมของ Megaupload รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริหารบริษัท (ซึ่งจะออกมาเฟียหน่อยๆ มีพกอาวุธด้วย) ทำให้ทางการสหรัฐจับตาอย่างเงียบๆ และเข้าจับกุมอย่างที่เป็นข่าวนั่นเอง

Megaupload จะถูกดำเนินคดีในชั้นศาลต่อไป ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆ แต่ที่เห็นผลทันตาในตอนนี้คือ เว็บไซต์ฝากไฟล์อื่นๆ พบเห็นการ “เชือดไก่” แบบนี้ เลยต้องปลอดภัยไว้ก่อน เปลี่ยนยุทธศาสตร์หลบเลี่ยงกันยกใหญ่



เว็บฝากไฟล์หลายแห่งเลือกที่จะปิด “ระบบแชร์ไฟล์ให้บุคคลอื่น” เพื่อป้องกันคำกล่าวหาเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนั้นตอนนี้สถานการณ์จึงกลายเป็นว่า คนที่ดาวน์โหลดไฟล์ได้มีแต่เจ้าของไฟล์เท่านั้น (กลายเป็นแค่การสำเนาไฟล์ขนาดใหญ่ไว้บนเน็ตแทน) ตัวอย่างเว็บกลุ่มนี้ได้แก่ Fileserve, Filesonic

เว็บไซต์อีกกลุ่มนี้ประกาศเลิกทำ “ระบบแรงจูงใจ” ที่ให้ผลตอบแทนแก่ผู้อัพโหลดไฟล์ยอดฮิต เพื่อป้องกันคำกล่าวหาว่าสนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ยังเปิดให้คนทั่วไปดาวน์โหลดไฟล์ได้อยู่ เว็บกลุ่มนี้ได้แก่ 4shared เว็บยอดนิยมของคนไทย, FileJungle, UploadStation, FilePost เป็นต้น

บางเว็บก็เล่นของแรงคือ ประกาศลบไฟล์ทั้งหมด (UploadBox) หรือบล็อกไม่ให้ผู้ใช้จากสหรัฐฯใช้งานได้เลย (Uploaded.to) เพื่อป้องกันการดำเนินคดีจากหน่วยงานในสหรัฐ

แต่ก็ยังมีอีกหลายเว็บที่ประกาศว่าตัวเองสะอาดโปร่งใสพอ และให้บริการฝากไฟล์ต่อไป ตัวอย่างเว็บกลุ่มนี้คือ RapidShare และ MediaFire ซึ่งทั้งสองเว็บก็แสดงจุดยืนว่าต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง

ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน และตอนนี้ทางการสหรัฐเริ่มเอาจริงแล้ว ซึ่งเว็บไซต์รับฝากไฟล์เหล่านี้ก็เลี่ยงการถูกลงโทษได้ยาก

...



กรณีของ Megaupload คงดำเนินคดีไปตามขั้นตอน แต่ผมเชื่อว่าเว็บไซต์ฝากไฟล์อื่นน่าจะเริ่มกลัวจนทยอยถอนตัวจากธุรกิจนี้ออกไปบ้าง อย่างไรก็ตามชาวเน็ตคงหาวิธีการแลกเปลี่ยนไฟล์แบบอื่นๆ (เช่น BitTorrent) มาแทน และเกมแมวไล่จับหนูก็จะดำเนินต่อไปเช่นเดิมครับ

ข้อมูลบางส่วนจาก TorrentFreak - http://torrentfreak.com/cyberlocker-ecosystem-shocked-as-big-players-take-drastic-action-120123/

...


มาร์ค Blognone