กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยมากเกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพจากเสาสัญญาณโทรศัพท์ องค์การอนามัยโลก ยืนยันว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อประชาชน โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ทั่วโลกเริ่มใช้เทคโนโลยี 5G หรือ Fifth Generation เกิดธุรกิจการรับส่งข้อมูลจำนวนมหาศาล ในยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ ก่อความกังวลว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เป็นอันตรายร้ายแรงจริงหรือไม่
- การใช้สัญญาณ 5G ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา หลายประเทศมีความกังวลว่าคลื่นสัญญาณนี้จะมีผลต่อร่างกายหรือไม่ เนื่องจากสัญญาณโทรศัพท์เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและอยู่ในสิ่งแวดล้อมทุกๆ ที่ โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ
- นักวิจัยทั่วโลกจึงค้นหาคำตอบเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่เป็นอันตราย เพื่อลบล้างความเชื่อผิดๆ ที่มีอยู่เดิม
- สัญญาณ 5G ไม่ทะลุผ่านเนื้อเยื่อผิวชั้นนอก ดังนั้นจึงไม่ผ่านเข้าเนื้อเยื่อผิวชั้นใน ไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างสารชีวโมเลกุลระดับดีเอ็นเอ
เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่เป็นอันตรายร้ายแรง อยู่ใกล้ป้องกันได้
ความเชื่อที่เกี่ยวกับเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ คือความวิตกว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากการส่งสัญญาณของสถานีจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแก่ผู้อยู่ใกล้เคียง โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงระดมผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบวิจัยประเด็นนี้ จนกระทั่งวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 องค์การอนามัยโลกได้ออกมายืนยันว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถืออยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยต่อประชาชน
งานวิจัยเกี่ยวกับสัญญาณ 5G จากสถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Institute of Electrical and Electronics Engineers : IEEE) ตีพิมพ์ในปี 2020 อธิบายเกี่ยวกับสัญญาณ 5G ที่ปล่อยออกมาจากเสาส่งสัญญาณว่าสามารถถูกดูดซับไปกับโครงสร้างอาคาร ต้นไม้ และสิ่งกำบังภายนอกได้ โดยไม่ส่งผลกระทบมาถึงชั้นผิวหนังของมนุษย์ ในขณะเดียวกันองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ได้จัดให้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากเสาสัญญาณโทรศัพท์อยู่ในกลุ่มสนามแม่เหล็กไฟฟ้าตัวกระทำที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง กลุ่ม 2B ซึ่งหมายถึงอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เทียบกับการบริโภคผักดอง น้ำมันเบนซิน และไอระเหยของน้ำมันเบนซินที่มีผลอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ดังนั้นการตั้งเสาสัญญาณของแต่ละประเทศต้องอยู่ในการเฝ้าระวังภายใต้กฎหมายการตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์
ดังน้ันความกังวลใจเกี่ยวกับอันตรายจากเสาส่งสัญญาณว่าอันตรายร้ายแรงนั้น เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ เทียบได้กับการหลีกเลี่ยงการบริโภคผักดอง และกลิ่นไอระเหยของน้ำมันเบนซิน
Q : ผู้ที่อยู่ใกล้เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ควรป้องกันอย่างไร
A : ติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบค่าสัญญาณที่ได้ว่าเกินจากค่ามาตรฐานสากลหรือไม่
โดยหน่วยงานในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบค่าสัญญาณนี้ คือ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงและคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความกังวลว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือจะเป็นอันตรายต่อร่างกายก็ต่อเมื่อ
1. เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีค่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด จะส่งผลให้เกิดความร้อนเพิ่มขึ้นในเซลล์ร่างกาย
2. คนเราสัมผัสหรือได้รับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่สูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้เซลล์ตายหรือร่างกายมีอันตราย
ค่ามาตรฐานสากลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้อ้างอิงจาก คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันรังสีที่ไม่ทำให้เกิดไอออน (ICNIRP) โดยสมาคมป้องกันรังสีระหว่างประเทศ (IRPA) ดังนี้
1. ความถี่ 950 MHz มีค่าไม่เกิน 4.5 W/m^2
2. ความถี่ 1,800 MHz มีค่าไม่เกิน 9.0 W/m^2
3. ความถี่ 2,100 MHz มีค่าไม่เกิน 10.0 W/m^2
ประเทศไทยมีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตหลายเจ้า ครอบคลุมทั่วประเทศ ในเดือนเมษายนปี 2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เผยผลสำรวจสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ หรือเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ จำนวน 2,217 สถานี ค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าตรวจวัดในช่วงความถี่ 800 - 2,300 MHz พบว่าค่าสูงสุดที่วัดได้อยู่ในช่วง 950 - 2,100 MHz มีค่าระหว่าง 0.000255 W/m2 - 0.01776 W/m2 ซึ่งเป็นค่าที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย
เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่เป็นอันตรายอย่างที่คิด
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยข้อมูลจาก กสทช. ผ่านเว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไว้ว่าผลสำรวจวัดค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือในเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต อำเภอเมืองในเขตปริมณฑล 5 จังหวัด และอำเภอเมืองในจังหวัดภาคกลาง 16 จังหวัด นี้มีค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่วัดได้มีอยู่ในช่วงระหว่าง 0.000255 - 0.01776 (W/m2) ซึ่งค่าที่วัดได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย โดยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานประมาณ 500 - 1,000 เท่า จึงมีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกับสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ
ประเทศไทยมีเสาสัญญาณโทรศัพท์อยู่เท่าไร
ข้อมูลล่าสุดในปี 2562 มีผู้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต จดทะเบียนก่อสร้างเสาสัญญาณโทรศัพท์กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อยู่จำนวน 170,577 สถานี
เมื่อเทียบค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์วัดได้จนถึงปี 2564 ค่าสนามแม่เหล็กจากเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือทั่วประเทศอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 1,000 เท่า ซึ่งจัดอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อประชาชน อย่างไรก็ดีก็ยังคงต้องเฝ้าระวัง โดยในปี 2565 เป็นต้นไป สำนักรังสีฯ ก็ยังคงเฝ้าระวังความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิง
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมวิทย์ฯ เผยค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน. 1 เมษายน 2564. แหล่งที่มา : https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1092 สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม, 2564.
2. กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ, ค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน. 1 เมษายน 2564. แหล่งที่มา : https://btfp.nbtc.go.th/Newsandactivities/news/1566.aspx สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม, 2564.
3. US National Library of Medicine National Institutes of Health, IEEE Committee on Man and Radiation-COMAR Technical Information Statement: Health and Safety Issues Concerning Exposure of the General Public to Electromagnetic Energy from 5G Wireless Communications Networks, 23 June 2020. แหล่งที่มา : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7337122 สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม, 2564.