นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายคนคาดคิดนัก กับการก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอทวิตเตอร์ของแจ็ค ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งเปิดตัวให้โลกได้รู้จักครั้งแรกในปี 2006

ตลอด 15 ปีของทวิตเตอร์ พวกเขาเคยมีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งซีอีโอมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เริ่มจากคนที่เป็นซีอีโอในช่วงสองปีแรกของการก่อตั้งก็คือแจ็ค ดอร์ซีย์ คนที่เพิ่งก้าวลงจากตำแหน่งนี่แหละครับ

ตามด้วยอีแวน วิลเลียมส์ (Evan Williams) เป็นซีอีโอ 2 ปี กินเวลาระหว่างปี 2008 จนถึงปี 2010 แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นดิค คอสโตโล (Dick Costolo) รั้งตำแหน่งซีอีโอ 5 ปี ในช่วงปี 2010-2015 จากนั้นก็เข้ามาสู่ยุคของแจ็ค ดอร์ซีย์อีกครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปี 2021 ก่อนที่จะอยู่ในมือของปารัก อักราวัล (Parag Agrawal) อย่างที่เราทราบกัน

Game of Thrones ฉบับทวิตเตอร์

อันที่จริงต้องบอกว่า เรื่องราวของทวิตเตอร์เต็มไปด้วยความดราม่า ไม่แพ้นิยาย Game of Thrones เลย โดยเฉพาะดราม่าเรื่องที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ก่อตั้งด้วยกันเอง ประกอบไปด้วย แจ็ค ดอร์ซีย์, โนอาห์ กลาส, บิซ สโตน และอีแวน วิลเลียมส์ แต่ที่เป็นปัญหาหนักจริงๆ ก็คงต้องเป็นเรื่องของแจ็ค ดอร์ซีย์ และโนอาห์ กลาส กับอีแวน วิลเลียมส์ จนในท้ายที่สุดก็ต้องแยกย้ายกันไปคนละทาง

ทวิตเตอร์ เป็นโปรเจกต์ที่แจ็ค ดอร์ซีย์ คิดขึ้นมาในช่วงที่เขากำลังทำงานเป็นวิศวกร ซึ่งเป็นที่ถูกตาต้องใจโนอาห์ กลาส ผู้ร่วมก่อตั้ง Odeo เป็นอย่างมาก และมองว่า แนวคิดของทวิตเตอร์น่าจะไปได้สวย เวลานั้น แจ็ค ดอร์ซีย์ เรียกสิ่งที่เขาคิดขึ้นมานั้นว่า Status

คนที่ทำงานใน Odeo ระบุว่า อีแวน วิลเลียมส์ ไม่ได้ชื่นชอบทวิตเตอร์อะไรมากนัก แต่ในท้ายที่สุดก็ผลักดันให้ทวิตเตอร์ได้ไปต่อ และกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักไปในที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่า ภายในหนึ่งบริษัทมีสองผลิตภัณฑ์ซ้อนทับกันอยู่

ปัญหาก็ตามมา เพราะดูเหมือนว่า การทำงานของอีแวน วิลเลียมส์ และโนอาห์ กลาส ดูจะไปด้วยกันไม่ได้นัก จนท้ายที่สุดโนอาห์ กลาส ถูกอีแวน วิลเลียมส์ ไล่ออกไป กลายเป็นเรื่องดราม่าที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

กลุ่มพนักงานที่เคยทำงานใน Odeo เปิดเผยว่า โนอาห์ กลาส รักทวิตเตอร์ เขาใส่ใจแพลตฟอร์มนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งทวิตเตอร์ส่วนตัวของโนอาห์ กลาส @noah เขาได้ตั้งโปรไฟล์เอาไว้ว่า “i started this” (ฉันเป็นคนเริ่มสิ่งนี้) ทั้งนี้ เจ้าตัวไม่ได้เคลื่อนไหวในบัญชีนี้มาตั้งแต่ปี 2013 แล้ว

...

ทวิตเตอร์ของโนอาห์ กลาส
ทวิตเตอร์ของโนอาห์ กลาส



ทางด้านแจ็ค ดอร์ซีย์ ซึ่งเป็นคนคิดแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ตั้งแต่เริ่มต้น ก็ไม่ได้มีสถานะที่ต่างไปจากโนอาห์ กลาส มากนัก เพราะเขาถูกระเห็จออกจากบริษัท โดยบอร์ดบริหารในปี 2008 และได้กลับมาในปี 2015 ตามที่เรียนไว้ข้างต้น

ว่ากันว่า การไล่แจ็ค ดอร์ซีย์ ออกจากบริษัทไปในเวลานั้น เกิดขึ้นจากการที่เขาถูกดันขึ้นมาเป็นซีอีโอเร็วเกินไป ด้วยอายุแค่ 30 ปี อีกทั้งการนำทีมของแจ็ค ดอร์ซีย์ ก็ยังทำได้ไม่ดีนัก พนักงานไม่มีความสุขกับการทำงานกับดอร์ซีย์ ไปจนถึงการที่บริษัทใหญ่โตขึ้น แต่กลับไม่มีการว่าจ้างพนักงานให้เพียงพอ จนเป็นเหตุผลสืบเนื่องที่ทำให้ทวิตเตอร์ไม่สามารถรองรับผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นได้ เกิดปัญหาเว็บทวิตเตอร์ล่มหลายต่อหลายครั้ง ครั้งละหลายชั่วโมง

นอกจากนี้ แจ็ค ดอร์ซีย์ ยังมีขอบเขตความสนใจอื่นๆ ที่รบกวนการทำงานที่ทวิตเตอร์ไม่น้อย ทั้งเรื่องด้านการเงิน ไปจนถึงแฟชั่น ดีไซน์ จนเป็นเครื่องหมายคำถามว่า เขาไม่ได้จดจ่อให้กับทวิตเตอร์มากนัก

คนที่เข้ามาแทนที่ดอร์ซีย์ก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นอีแวน วิลเลียมส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่มีหุ้นของทวิตเตอร์อยู่ในมือเป็นจำนวนมาก เมื่อวิลเลียมส์ตัดสินใจ ทุกอย่างก็แทบเป็นคำตอบสุดท้ายของบริษัท

Block อีกหนึ่งบริษัทของแจ็ค ดอร์ซีย์
Block อีกหนึ่งบริษัทของแจ็ค ดอร์ซีย์



ดอร์ซีย์ รู้ดีกว่าการไล่ออกครั้งนี้ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง นั่นจึงทำให้ดอร์ซีย์แทบไม่ได้พูดคุยกับวิลเลียมส์อีกเลยนานเป็นเวลาหลายปี อย่างไรก็ดี แจ็ค ดอร์ซีย์ ก็ได้กลับมาที่ทวิตเตอร์ โดยการกลับมาในเวลานั้น เขาทำงานในตำแหน่งซีอีโอพร้อมกันสองบริษัท ได้แก่ บริษัทสตาร์ทอัพ (ในเวลานั้น) อย่างสแควร์ (Square) ซึ่งเป็นบริการทางการเงินและการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล ก่อตั้งในปี 2010 หลังจากที่ดอร์ซีย์ ออกจากทวิตเตอร์ไปแล้ว 2 ปี และในปัจจุบันทั้งทวิตเตอร์และสแควร์ ต่างก็กลายเป็นบริษัทในตลาดหุ้นเรียบร้อยแล้ว

ล่าสุด สแควร์ รีแบรนด์ใหม่เป็น Block เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีผลวันที่ 10 ธันวาคม 2021

บทเรียนของเรื่องนี้ของดอร์ซีย์ ก็คือแม้คุณจะเป็นคนคิดค้นไอเดียที่สดใหม่นั้นขึ้นมา แต่ไม่ได้หมายความว่า “คุณเป็นเจ้าของ”

...

ทำไม “แจ็ค ดอร์ซีย์” ถึงลาออกรอบสอง

แจ็ค ดอร์ซีย์
แจ็ค ดอร์ซีย์



นี่เป็นสิ่งที่ใครหลายคนให้ความสนใจ แม้ว่า แจ็ค ดอร์ซีย์ จะให้เหตุผลถึงการลาออกจากการเป็นซีอีโอด้วยเหตุผลสามข้อ โดยข้อแรกเป็นการสนับสนุนปารัก อักราวัล ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในเพื่อนสนิทของแจ็ค ดอร์ซีย์ และการทำงานในทวิตเตอร์ อักราวัลก็ได้ชื่อว่า เป็นมือขวาของดอร์ซีย์มาตลอด

ส่วนข้อที่สองเป็นการเสนอให้เบรท เทย์เลอร์ ขึ้นมาเป็นประธานบริษัท และข้อที่สาม ทวิตเตอร์เป็นบริษัทที่ทีมงานมีดี มีศักยภาพ และความมุ่งมั่นที่สามารถจะผลักดันให้ทวิตเตอร์ดียิ่งขึ้น

จากทั้งสามข้อไม่มีข้อไหนเลยที่สามารถชี้ชัดให้เห็นว่า ทำไมดอร์ซีย์ถึงลาออก

ผมสันนิษฐานว่า การลาออกของแจ็ค ดอร์ซีย์ ในครั้งนี้ น่าจะมีผลสืบเนื่องจากการที่เจ้าตัวทำงานควบสองบริษัทตามที่เรียนไว้ข้างต้น นั่นคือ สแควร์ จนทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่า ดอร์ซีย์ จะยังสามารถบริหารงานบริษัทมหาชนถึงสองแห่งได้ในเวลาเดียวกันได้จริงหรือ แล้วก็กลายเป็นแรงกดดันให้เจ้าตัวต้องยื่นจดหมายลาออก แม้ดอร์ซีย์จะยืนยันมาตลอดว่า ทำได้ สบายมาก อย่าห่วง ก็ตาม

ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านพ้นไป Elliott Management ผู้ถือหุ้นจำนวน 4 เปอร์เซ็นต์ในทวิตเตอร์ เคยออกมากดดันให้บอร์ดบริหารของทวิตเตอร์ปลดดอร์ซีย์ออกจากตำแหน่ง (เป็นรอบที่สอง) เพียงแต่ในท้ายที่สุดดอร์ซีย์ก็ยังได้อยู่ในตำแหน่ง ซึ่งจากประเด็นนี้ ก็พอเชื่อได้ว่า ภายในของทวิตเตอร์ก็มีบรรยากาศมาคุอยู่เหมือนกัน

ดังนั้นแล้วการเลือกคนใกล้ชิด คนใน คนสนิทอย่างอักราวัลของดอร์ซีย์ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะอย่างน้อยๆ บริษัทที่ตัวเขามีส่วนร่วมมาตั้งแต่เริ่มยังมีคนที่ไว้ใจได้เหลืออยู่

เราต้องกล่าวด้วยว่า ทวิตเตอร์ในยุคของดอร์ซีย์ ถือได้ว่า พวกเขามีผลิตภัณฑ์ที่สามารถจับต้องได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปรเปลี่ยนเป็นรายได้เข้าบริษัทได้พอสมควร ไม่ว่าจะเป็น Twitter Spaces ที่มีระบบขายตั๋วเข้าฟังสำหรับคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ, Twitter Super Follow ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ OnlyFans, แนวคิดการพัฒนาโซเชียลมีเดียแบบกระจายศูนย์ในชื่อ Bluesky, Twitter Blue นอกจากนี้ ยังมีระบบ Tip Jar และระบบบอกรับสมาชิกแบบ Newsletter

แต่ในมุมกลับกัน บรรดาบริการต่างๆ ของทวิตเตอร์ก็ถูกตั้งคำถามจากนักลงทุนไม่น้อยว่า จะสร้างรายได้ที่ยั่งยืนได้หรือไม่ และทิศทางการเป็นซุปเปอร์แอป (Super-app) ของทวิตเตอร์ก็ขาดความชัดเจน ไม่มีทิศทางที่แน่ชัดว่าจะไปทางไหน เมื่อเทียบกับเมตา

มรดกของดอร์ซีย์ที่เหลือทิ้งไว้ให้กับทวิตเตอร์ จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลาการเป็นซีอีโอของเขาการเติบโตของบริษัทเป็นไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะตลาดของทวิตเตอร์ในต่างประเทศ

ทวิตเตอร์ มีรายรับรวมเพิ่มขึ้น 127 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2015 อยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเติบโตได้ดีทีเดียว เพียงแต่ก็คงยังเทียบไม่ได้กับเมตาหรือเฟซบุ๊กเดิม ซึ่งรายได้ในช่วงปี 2015 อยู่ที่ 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2021 น่าจะอยู่ที่ 1.176 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

...

กราฟการเติบโตของทวิตเตอร์
กราฟการเติบโตของทวิตเตอร์



การที่ตัวเลขตลาดในสหรัฐอเมริกา ชะลอตัวนับว่าเป็นปัญหาหรือไม่ คำตอบก็คือ “ใช่” เพราะเม็ดเงินด้านโฆษณาจำนวนมากหรือเรียกได้ว่า ส่วนใหญ่ก็อยู่ในสหรัฐอเมริกา นั่นแหละ

ดังนั้นแล้ว ภาระงานที่เหลือต่อจากนี้ คนที่รับช่วงต่ออย่างปารัก อักราวัล จะต้องขบคิดให้ได้ว่า จะพาทวิตเตอร์ โตอย่างไรในประเทศบ้านเกิดสหรัฐอเมริกา

ผู้มาใหม่ที่มีชื่อว่า ปารัก อักราวัล

ปารัก อักราวัล
ปารัก อักราวัล

...

นี่คือการเข้าสู่ยุคใหม่ของทวิตเตอร์ โดยปารัก อักราวัล อดีตผู้บริหารสูงสุดฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัทได้รับการโปรโมตขึ้นมาเป็นซีอีโอคนใหม่ ซึ่งถือได้ว่า เป็นคนอินเดียอีกหนึ่งคนที่ได้เป็นซีอีโอของบริษัทชั้นนำในโลกเทคโนโลยี จนอาจกล่าวแบบติดตลกได้ว่า การส่งออกของอินเดียในตอนนี้ เป็นการส่งออกบุคคลระดับซีอีโอสู่ซิลิคอน วัลเลย์

แน่นอนว่า ชื่อของอักราวัลไม่ได้เป็นที่คุ้นหูมากนัก แต่เวลานี้ เขาได้ยืนอยู่ในพื้นที่เดียวกับมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก, สัตยา นาเดลลา, ซุนดาร์ พิชัย และอีลอน มัสก์ เรียบร้อยแล้ว

ถ้าหากเราดูจากประวัติการทำงาน ความสามารถของอักราวัล จะเห็นได้ว่า เขาน่าจะเป็นผู้นำในสไตล์ที่ใกล้เคียงกับซุนดาร์ พิชัย กล่าวคือ เป็นผู้นำที่เก่งกาจด้านเทคนิค มีปูมหลังด้านวิศวกร และไม่เป็นที่รู้จักของคนภายนอกมากนัก

ส่วนการบ้านกองโตของอักราวัล คือการทำให้ทวิตเตอร์โตขึ้น โดยมีแรงกดดันสำคัญจากการที่ TikTok เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับอินสตาแกรม (Instagram) ซึ่งกลายเป็นแพลตฟอร์มที่วัยรุ่นนิยมใช้งานกัน และเป็นหนึ่งในการลงทุนที่คุ้มค่ามากๆ ของเมตา หรือเฟซบุ๊กเดิม

นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ภายใต้การนำของอักราวัล ก็น่าจะต้องประมือกับนักการเมืองจากพรรครีพับลิกัน หรือผู้ที่มีแนวคิดด้านอนุรักษนิยมในสหรัฐฯ อีกไม่น้อย เนื่องจากกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาตั้งธงว่า ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่มีความพยายามปิดกั้นเสียงของฝ่ายขวา โดยหนึ่งในคนที่พูดเรื่องนี้มากที่สุดก็ไม่ใช่ใคร นั่นคือ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีที่ในช่วงระหว่างการดำรงตำแหน่งเขาได้ใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางสื่อสารหลัก ก่อนที่จะถูกแบนไปในที่สุดจากเหตุการณ์จลาจลในรัฐสภาต้นเดือนมกราคม 2021

ที่มา: The Verge, Wired, The Guardian, NY Mag, Business Insider [1], [2]