ข่าวการประกาศเปลี่ยนชื่อของเฟซบุ๊ก (Facebook) ไปเป็นเมตา (Meta) ถือเป็นข่าวใหญ่ที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
แม้ในความเป็นจริง บริษัทชั้นนำจากซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) จะเคยมีการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทให้เห็นอยู่เนืองๆ จากกรณีของกูเกิล (Google) ซึ่งสร้างโฮลดิงคอมปานีขึ้นมาครอบบริษัทที่มีรากฐานจากเสิร์ชเอนจินด้วยชื่ออัลฟาเบท (Alphabet)
เฟซบุ๊ก ประกาศการเปลี่ยนชื่อใหม่ของบริษัทกลางงาน Facebook Connect พร้อมกับรีแบรนด์อุปกรณ์ VR อย่าง Oculus ไปใช้ชื่อที่มีความยึดโยงกับคำว่า Meta ทั้งหมด เพื่อเป็นการวางรากฐานไปสู่การเป็นบริษัทเมตาเวิร์ส (Metaverse) ซึ่งเป็นสิ่งที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊กวาดฝันเอาไว้
ที่น่าสนใจในการรีแบรนด์จากเฟซบุ๊กไปสู่เมตา ก็ดันเกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาของเฟซบุ๊กซึ่งสั่งสมมาเป็นเวลานาน และก็ดันปะทุขึ้นมาจากการเปิดโปงโดยฟรานเซส เฮาเกน ซึ่งได้หอบเอกสารหลายพันฉบับไปให้กับสำนักข่าววอลล์ สตรีท เจอร์นัล ก่อนที่จะขึ้นให้การเพิ่มเติมกับสภาคองเกรส จนกลายเป็นประเด็นที่สื่อทั่วโลกเรียกขานเหตุการณ์นี้ Facebook Paper
...
เนื้อหาในเอกสารที่เฮาเกนออกมาแฉก็มีด้วยกันหลายประเด็น ทั้งประเด็นการที่เฟซบุ๊กละเลยเรื่องความปลอดภัยในโลกออนไลน์ ไม่ได้สนใจที่จะจัดการข่าวปลอมอย่างจริงจัง
ขณะที่วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ซึ่งเป็นแนวหน้าในการขย่มเฟซบุ๊กก็ได้บอกว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์ของเฟซบุ๊ก มีความสามารถในการจัดการประทุษวาจา หรือเฮทสปีช (Hate speech) ได้เพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ประเด็นทั้งหมดที่ถูกยกขึ้นมานั้น ไม่ว่าจะเป็นตัวของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กก็ดี หรือโฆษกของเฟซบุ๊กก็ดี ล้วนออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด
กระทั่งมีข่าวในช่วงก่อนหน้าการรีแบรนด์ว่า เฟซบุ๊กไม่สามารถจัดการปัญหาเอกสารขององค์กรรั่วไหลได้อีกแล้ว จนออกนโยบายให้พนักงานคุยงานในลักษณะที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น มีการจำกัดกลุ่มคนที่จะเข้าถึงหัวข้อการสนทนาในแต่ละประเด็น เพื่อลดโอกาสการทำให้เกิดเอกสารรั่วไหล
นี่ยังไม่รวมถึงการเติบโตของเฟซบุ๊กนับตั้งแต่เข้ามามีบทบาทกับประชากรโลกอย่างมาก จึงทำให้สภาคองเกรสเลยมีแนวคิดที่จะควบคุมเฟซบุ๊กให้อยู่ในกรอบ หรือแม้แต่เคยมีข่าวด้วยซ้ำว่า สภาคองเกรสเคยคิดจะแยกบริษัทในเครือเฟซบุ๊กออกเป็นส่วนๆ เรียกว่า ฉีกเฟซบุ๊กแยกขาดออกจากอินสตาแกรมและวอตส์แอป (WhatsApp) นั่นเอง
ถ้าว่ากันตามความเป็นจริงแล้วนี่เป็นแค่ปัญหาบางส่วนของเฟซบุ๊กจากในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาเท่านั้น
การประกาศรีแบรนด์ของเฟซบุ๊ก พลเมืองอินเทอร์เน็ตทั้งโลก ไม่ว่าจะอยู่บนทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือแพลตฟอร์มใดๆ ก็ตาม ต่างก็ตั้งประเด็นถึงการรีแบรนด์ครั้งนี้ออกไปในหลายเหตุผล
อย่างไรก็ดี มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก อ่านเกมนี้ออก เพราะเขาก็บอกจากการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเดอะ เวิร์จ เอาไว้ว่า ตัวเขาคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนชื่อบริษัทมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ซื้ออินสตาแกรมและวอตส์แอปมาไว้ในมือ ในช่วงปี 2012 และปี 2014 เพราะเฟซบุ๊กที่เขามองเห็นจากวิสัยทัศน์ มันมาไกลเกินกว่าที่จะใช้คำว่า เฟซบุ๊ก ซึ่งไม่สอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทจะทำในอนาคตอีกแล้ว
การเปลี่ยนชื่อจากเฟซบุ๊กไปเป็นเมตา คือการแสดงความทะเยอทะยานว่า บริษัทเฟซบุ๊กกำลังจะเป็นมากกว่าบริษัทโซเชียลมีเดีย ทำให้องค์กรมีความชัดเจนว่า พวกเขากำลังจะมุ่งหน้าทะยานไปสู่การเป็นเมตาเวิร์ส การเลือกใช้คำว่า "เมตา" ให้กับบริษัท ซึ่งเป็นชื่อที่สื่อสารง่ายและชัดเจน
...
ผมเชื่อว่า กรณีการรีแบรนด์ของเฟซบุ๊ก พวกเขาก็น่าจะผ่านการศึกษาจากการรีแบรนด์ก่อนหน้านี้ของกูเกิลมาบ้าง เพราะในช่วงปี 2015 กูเกิลไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่บริษัทเสิร์ชเอนจินอีกต่อไปแล้ว ในเวลานั้นกูเกิลทำหลายสิ่งหลายอย่างมากเหลือเกิน จนยากที่จะใช้นิ้วมือที่มีอยู่นับ ไม่ว่าจะเป็น DeepMind, Waymo, Google X, ระบบปฏิบัติการ Android, Pixel Phone, ยูทูบ (YouTube) และอื่นๆ อีกมากมาย
อย่างไรก็ดี จากการที่เมตาหรือเฟซบุ๊ก มีความทะเยอทะยานจินตนาการไปถึงโลกเมตาเวิร์ส จึงทำให้มีผู้คนจำนวนมากเริ่มกังวลว่า เมตา พยายามผูกขาดโลกเมตาเวิร์สหรือไม่
เรื่องนี้ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ยืนยันว่า ไม่ใช่ เพราะสิ่งที่เฟซบุ๊กกำลังมุ่งพัฒนาเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ สร้างประสบการณ์ในการเข้าถึงโลกเมตาเวิร์ส โดยทั้งหมดนี้ ควรใช้ร่วมกันได้บนแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน และเฟซบุ๊กก็ไม่ได้มีความคิดที่จะค้ากำไรจากการขายอุปกรณ์โลกเมตาเวิร์ส
...
ผมขอเดาว่า สิ่งที่เฟซบุ๊กต้องการก็คือข้อมูลของผู้ใช้งานในโลกเมตาเวิร์สของผู้ใช้งานแต่ละคน ก่อนที่จะแปรรูปให้ออกมาในรูปแบบของโฆษณา
เมื่อพูดถึงข้อมูลผู้ใช้งาน ก็คงมีเครื่องหมายคำถามกับบริษัทอย่างเมตาว่า แล้วเราจะเชื่อถือพวกเขาได้แค่ไหน
นอกจากนี้ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ยืนยันด้วยว่า การรีแบรนด์ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อหลบเลี่ยงจากชื่อเสียงแย่ๆ ของเฟซบุ๊กที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ถึงที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณผู้อ่านจะเชื่อน้ำคำของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กมากแค่ไหน.