"เอนก" ดันของดี อว. โครงการ TSC สำรวจอวกาศใหญ่ ตั้งเป้าโคจรรอบดวงจันทร์ใน 7 ปีข้างหน้า เชื่อไทยจะเป็นประเทศที่ 5 ในเอเชีย ผลิตยานอวกาศไปดวงจันทร์ ระบุสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่หลายประเภท เพื่อผลิตชิ้นส่วนยานอวกาศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมูลค่าสูงถึง 100 ล้านล้านบาท เดินคู่ขนานพัฒนาคนได้ยอดเยี่ยมที่สุด 

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.64 ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงโครงการ TSC หรือ Thai Space Consortium ภายใต้ "โครงการ 12 เดือน 12 ดีกับรัฐมนตรีเอนก" ตอนหนึ่งว่า โครงการ TSC คือ การสำรวจอวกาศที่ใหญ่ที่สุดของไทย เป็นการโคจรรอบดวงจันทร์ใน 7 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากอย่างโครงการอพอลโล ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างถาวร แม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ก็เป็นวิวัฒนาการ จากโครงการดังกล่าว วันนี้เราเข้าใกล้อวกาศทุกที เราใช้ประโยชน์จากอวกาศ สมัยก่อนต้องใช้เวลานานกว่าจะรู้ข่าวสารต่างประเทศ ต่อมามีการใช้ประโยชนอื่นๆ เช่น เราใช้ GPS จากดาวเทียม นอกจากนี้อวกาศยังเป็นอนาคตของมนุษยชาติ เป็นการสำรวจออกไปยังดาวเคราะห์ที่อื่นไม่ใช่จำกัดที่โลกที่เดียว หลายปีก่อนนายอีลอนมัสต์พูดบ่อยว่า มนุษย์ตั้งอาณานิคมที่ดาวอังคาร ซึ่งมีทรัพยากรต่างๆมีความใกล้เคียงกับโลกมาก เรื่องนี้มีคนถามเยอะ ตนคิดว่าต้องมีมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ต้องเดินทางไปที่อื่น และการใช้ประโยชน์จากดาวอังคารยังคงมีอีกเยอะที่เรานึกไม่ถึง 

ดร.ศรัณย์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการ TSC ดาวเทียมดวงแรกที่เรากำลังออกแบบนั้น มีการติดตั้งอุปกรณ์การถ่ายภาพ ไฮเปอร์สเปกตรัม (Hyper-spectral imaging) อุปกรณ์เหล่านี้เมื่อติดตั้งกับดาวเทียมที่เรามีอยู่ ก็จะสามารถใช้บ่งชี้การเพาะปลูกและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถจำแนกประเภทวิเคราะห์แก้ปัญหาของพืชได้ นอกจากนี้เราจะรู้ถึงทรัพยากรใต้พื้นโลก เป็นข้อมูลสำคัญการกระจายตัวทรัพยากร แหล่งน้ำ การเพาะปลูก ทั้งนี้เราสามารถพัฒนาดาวเทียมที่ใช้เรดาห์ และทำงานในโหมดการแทรกสอดระยะไกล เราจะได้ภาพที่ทะลุเมฆได้ เรามีทีมงานที่มีความสามารถทางวิศวกรรมขั้นสูง อีก 10 ปี เราทำดาวเทียมที่จะมีความสามารถในการจัดการเชิงพื้นที่อย่างมหาศาล 

...

"การไปดวงจันทร์ไม่ได้ไปเพื่อศักดิ์ศรี บนดวงจันทร์อาจจะมีทรัพยากรมหาศาล ถ้าเราสามารถส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ ทำการศึกษาเราจะมีข้อมูลอีกเยอะ ถ้าประเทศไทยจะเริ่มโครงการอวกาศนอกจากส่งดาวเทียมโคจรรอบโลก เราจะสำรวจอวกาศที่ห้วงลึก (Deep space) จุดแรก คือ ดวงจันทร์ เพราะเทคโนโลยีไม่ง่าย ต้องเรียนรู้ในเชิงเทคนิคต่างๆ เพื่อให้ควบคุมและรู้ตำแหน่งของยานดาวเทียมได้ และเป้าหมายต่อไป คือ ดาวอังคาร โครงการต่างๆเหล่านี้เราไม่ได้โยนงบประมาณลงไปในอวกาศ แต่เราโยนงบประมาณใส่ไปในคน เพื่อเพิ่มความสามารถและศักยภาพของคนไทย อีกอย่างที่สำคัญ คือ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนได้มหาศาล" ดร.ศรัณย์ กล่าว

ดร.ศรัณย์ กล่าวต่อว่า นโยบายของ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.มีความมุ่งเน้นที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรม เล็งเห็นว่าโครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยพุ่งทะยานอันดับต้นๆได้ โดยตั้งเป้าไทยจะเป็นประเทศที่ 5 ในเอเชีย ผลิตยานอวกาศแล้วไปโคจรรอบดวงจันทร์ ทั้งนี้การไปสำรวจดวงจันทร์นั้น ประเทศไทยทำอะไรบ้าง ทีมวิศวกรหลายร้อยคนพัฒนาศักยภาพขึ้นมา เด็กฝึกงานมหาวิทยาลัยจะได้ประสบการณ์และพัฒนาไปด้วยกัน นักวิทยาศาสตร์จะได้ประโชยน์ของข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ วันนี้เรามีสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมไทยโซต (ศรีราชา) ดาวเทียมไทยคม และมีดาวเทียมธีออส (THEOS) ดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล เพื่อใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยและกำลังจะส่งดวงต่อๆไป ขณะเดียวกันยังมีดาวเทียมแนคแซทของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ดาวเทียม BCCSAT-1 ดวงแรกของเด็กไทยจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน 

"ที่สำคัญมีการประมาณกันว่า เศรษฐกิจที่เกิดจากโครงการอวกาศไม่กี่ปีข้างหน้า มีมูลค่าถึง 100 ล้านล้านบาท เรามีหน่วยงาน แต่เรายังขาดต้นน้ำ คือ การออกแบบสร้างอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้ประเทศไทยเกิดสตาร์ทอัพขึ้นมาหลายประเภท เพื่อที่จะผลิตชิ้นส่วนต่างๆในการสร้างยานอวกาศ ทำให้สามารถสร้างมูลค่าธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพในประเทศไทยได้เยอะมาก ถ้าเกิดเราสร้างเศรษฐกิจของเราในอุตสาหกรรมอวกาศนี้ จะสามารถพัฒนาคนได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีโครงการอวกาศ เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศ ซึ่งทำมูลค่าได้มหาศาลอีกด้วย" ดร.ศรัณย์ กล่าว