เจฟฟ์ เบซอส มหาเศรษฐีและผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีอีคอมเมิร์ซ ค้าขายตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบในชื่อแอมะซอน (Amazon) สละเก้าอี้ซีอีโอตัวที่เขาเป็นผู้ก่อร่างสร้างธุรกิจลงแล้ว เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา
ตลอด 27 ปีของการเป็นผู้นำสูงสุดของแอมะซอน ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย หากย้อนกลับไปเมื่อ 27 ปีที่แล้ว การทำธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ (ซึ่งยุคแรกเป็นการขายหนังสือ) เป็นเรื่องใหม่ และมีความท้าทายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหากเรานึกย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น ซึ่งเป็นเวลาที่อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย ยังไม่เป็นที่นิยม จุดนี้แสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่าเบซอสเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ ไม่ท้อถอย และเขามั่นใจว่าการทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตเป็นหนทางที่ “ถูกต้อง”
ควรกล่าวด้วยว่า แอมะซอน เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปี 1997 เวลานั้นเป็นช่วงที่ฟองสบู่ดอตคอมแตก ทำให้ธุรกิจไอทีจำนวนมากต้องล้มหายตายจาก แต่แอมะซอนก็ประคับประคองบริษัทมาได้เรื่อยๆ โดยที่บริษัทยังไม่สามารถทำกำไรได้เลย จนกระทั่งไตรมาสสุดท้ายของปี 2002 จะเป็นครั้งแรกของบริษัทที่ทำกำไรเป็นหนแรกได้สำเร็จ
27 ปีผ่านไป แอมะซอนในวันนั้นกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ มีผลิตภัณฑ์ในมือเป็นจำนวนมาก ทั้งที่พัฒนามาด้วยตัวเอง เช่น Amazon Web Service (AWS) เว็บไซต์แอมะซอน และผลงานต่อยอดจากบริษัทที่มีแววรุ่ง ยกตัวอย่าง Alexa และเว็บไซต์ฐานข้อมูลภาพยนตร์ที่เรารู้จักกันในชื่อ IMDb (The Internet Movie Database) เป็นต้น วันนี้ของแอมะซอนมีมูลค่ามากถึง 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
งานสุดหินบนเก้าอี้เหล็กของซีอีโอคนใหม่
หลังตัดสินใจแล้วว่าจะอำลาตำแหน่งซีอีโอ เจฟฟ์ เบซอส เลือกคนใกล้ตัวที่เขาเชื่อมือว่าจะบริหารยานขนาดยักษ์ที่มีชื่อว่าแอมะซอนได้อย่างไม่มีปัญหา คนคนนั้นมีชื่อว่าแอนดี แจสซี
ที่แอมะซอน แอนดี แจสซี ไม่ใช่คนอื่นคนไกล เขาคนนี้ร่วมงานกับเจฟฟ์ เบซอส ตั้งแต่ปี 1997 หรือหลังการก่อตั้งบริษัทเพียง 3 ปี ซึ่งตำแหน่งแรกของแอนดี แจสซี คือตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด
...
ก่อนที่ในปี 2003 แอนดี แจสซี และเจฟฟ์ เบซอส ลงมือร่วมกันที่จะปั้นแพลตฟอร์มคลาวด์ คอมพิวติงของตัวเองขึ้นมา ในชื่อ Amazon Web Service
ในระยะแรกทั้งแจสซีและเบซอส มองแพลตฟอร์มนี้ว่าเป็นของใหม่ที่น่าลงมือลองทำดู สุดท้ายอย่างที่เราทราบกันดี AWS กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของแอมะซอนในยุคที่ทุกคนต้องใช้คลาวด์คอมพิวติง
แม้แอนดี แจสซี จะมีประสบการณ์ในแอมะซอนอันข้นคลั่กในระดับที่เป็นรองแค่เจฟฟ์ เบซอส คนเดียวเท่านั้น แต่ความท้าทายของแอมะซอนในยุคการนำของเขาก็ใช่ว่าจะไม่มี ตรงกันข้ามหากแต่เป็นความท้าทายที่ใหญ่อย่างยิ่งยวด เพราะต้องไม่ลืมว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด สิ่งที่ใครหลายคนกำลังเฝ้าจับตาดูก็คือว่า ผู้นำคนใหม่ของแอมะซอน จะบริหารบริษัทภายใต้โรคระบาดได้ดีแค่ไหน รวมถึงการนำพาบริษัทให้หลุดรอดจากการถูกเพ่งเล็งว่าเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจผูกขาดได้หรือไม่
เท่านั้นยังไม่พอ แม้ภาพลักษณ์ที่เรามองมายังแอมะซอนจะเป็นบริษัทสุดไฮเทค ล้ำหน้าด้วยเทคโนโลยี แต่ก็มีความจริงอีกด้านที่ใครหลายคนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทั้งการเป็นบริษัทที่ใช้แรงงานพนักงานอย่างหนักแต่มีค่าตอบแทนต่ำ สภาวะการทำงานที่บีบคั้น สวัสดิการดูแลพนักงานคลังสินค้าที่ย่ำแย่จนทำให้มีพนักงานติดโควิดนับหมื่นคน ระบบการดูแลสุขภาพที่ไม่คุ้มครองการเจ็บป่วยของพนักงาน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อยของปัญหาที่ซีอีโอคนใหม่ต้องเผชิญ
ไม่เชื่อ Work-life balance
ด้วยความที่เจฟฟ์ เบซอส เป็นซีอีโอที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ดังนั้นแล้วในแง่ของคนทำงานมืออาชีพจำนวนไม่น้อย จึงอยากทราบว่าหลักการทำงานของเจฟฟ์ เบซอส เป็นอย่างไร
ครั้งหนึ่ง เจฟฟ์ เบซอส เคยให้สัมภาษณ์กับแมทเธียส ดอฟเนอร์ (Mathias Döpfner) ซีอีโอของแอกเซล สปริงเกอร์ (Axel Springer) บริษัทแม่ของสำนักข่าวบิสซิเนส อินไซเดอร์ (Business Insider) โดยเขากล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวเขาไม่เชื่อเรื่องของ Work-life balance แต่เบซอส เชื่อว่าประสิทธิภาพในการทำงานสำคัญกว่า ดังนั้นแล้ว เขาจึงชอบที่จะใช้คำว่า Work-life harmony ในแง่ของการทำงานและการใช้ชีวิต
เบซอส กล่าวต่อไปว่า พนักงานหรือคนทำงานควรหยุดที่จะมองหาความสมดุลในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งเบซอส ยืนยันว่าเขาไม่ได้แบ่งแยกเรื่องการทำงานในแอมะซอนกับชีวิตส่วนตัว แต่ทั้งสองอย่างรวมเป็นเนื้อเดียวกัน
“ถ้าผมมีความสุขตั้งแต่ที่บ้าน เมื่อผมมาทำงานที่ออฟฟิศ ผมก็จะมาทำงานพร้อมกับพลังอันมหาศาล อีกด้านหนึ่งถ้าผมทำงานอย่างมีความสุข ผมก็จะกลับบ้านไปด้วยพลังงานอันใหญ่ยิ่ง”
เจฟฟ์ เบซอส บอกด้วยว่าทุกๆ วันเขาตื่นมาโดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุก แล้วลุกขึ้นมาทำอาหารเช้าให้กับครอบครัวทุกวัน
บทเรียนของซีอีโอ
การทำงานของเจฟฟ์ เบซอส ที่แอมะซอน สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ นั่นคือ งานบริการลูกค้า ในหลายครั้งที่มีปัญหาในส่วนการร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของแอมะซอน คนที่รับสายการร้องเรียนนั้นก็เป็นเจฟฟ์ เบซอสเอง
ดังนั้น ทุกครั้งที่มีความผิดปกติในผลิตภัณฑ์ของแอมะซอน เบซอสมักจะแสดงความผิดหวังให้เห็น และวันรุ่งขึ้นเขาจะอีเมลไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อขอวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพและพูดถึงข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
...
สิ่งที่เจฟฟ์ เบซอส เน้นย้ำเป็นประจำนั่นคือความหลงใหลในลูกค้า และความพยายามในการทำให้ลูกค้ามีความสุขมากที่สุดบนแพลตฟอร์มของแอมะซอน โดยมองเรื่องกำไรในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น
นอกจากนี้ ที่แอมะซอนยังมีกฎที่น่าสนใจ เรียกว่ากฎพิซซ่าสองถาด กล่าวคือ เป็นกฎการทำงานที่ใช้คนให้น้อยที่สุด โดยมีปริมาณจำนวนแค่ให้พอต่อจำนวนพิซซ่าสองถาด ซึ่งกฎนี้ทำให้คนทำงานมีอำนาจการตัดสินใจในตัวเอง คุยงานกันภายในทีม ตัดเรื่องของการประชุมที่จะทำให้งานในมือต้องล่าช้าออกไป
เมื่อพูดถึงเรื่องการประชุม เจฟฟ์ เบซอส ต้องการให้ทุกคนสามารถสร้างบทสนทนาอันร้อนแรงได้ เพื่อให้ผลลัพธ์ของงานออกมาดีที่สุด แต่ต้องเป็นการโจมตีในแง่ของการทำงาน ไม่ใช่การติเตียนด้วยความไม่ชอบหน้าส่วนตัว และเบซอส เป็นคนที่เกลียดการประชุมที่ใช้สไลด์ และเขาชอบบันทึกการประชุมด้วยวิธีการจดลงบนสมุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้วก่อนหน้าที่จะถึงกำหนดการลงจากตำแหน่งของเจฟฟ์ เบซอส องค์กรสื่อไม่แสวงหาผลกำไรอย่างโปรพับลิกา เปิดเผยว่า เจฟฟ์ เบซอส ไม่ได้จ่ายภาษีแม้แต่ 1 ดอลลาร์ ในปี 2007 และปี 2011
แม้ในกรณีนี้ เจฟฟ์ เบซอส จะไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่ทำเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีขั้นเซียนเหยียบเมฆด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านการลดหย่อนภาษี, หาเครดิต และใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบ เป็นต้น
เปลี่ยนซีแอตเทิลเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี
ไม่ว่าคุณจะมองเจฟฟ์ เบซอส เป็นคนอย่างไร จะดีหรือแย่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการปรับปรุงเมืองซีแอตเทิลให้กลายเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี
ที่ผ่านมา แอมะซอนได้วางเทคโนโลยีใหม่ๆ นำร่องทดสอบในเมืองซีแอตเทิลเสมอ ผมขอยกเพียงสองตัวอย่างเท่านั้น นั่นคือ การนำ Amazon Go มาให้บริการในเดือนมกราคม 2018
...
หลักการทำงานของ Amazon Go คือการช็อปปิ้งแบบไร้เงินสด ลูกค้าของแอมะซอนสามารถหยิบสินค้าออกจากร้านได้เลยโดยไม่ต้องชำระเงินที่แคชเชียร์ เนื่องจากการชำระเงินจะทำผ่านแอปพลิเคชัน Amazon Go ที่ผูกกับบัตรเครดิตไว้
ต่อด้วยความสนใจในธุรกิจอวกาศ จนนำมาสู่การก่อตั้งบลูออริจิน และกำลังจะเดินทางไปสู่อวกาศเป็นครั้งแรกในวันที่ 20 กรกฎาคม ซึ่งสำนักงานใหญ่ของบลูออริจิน ก็อยู่ในเมืองเคนต์ รัฐวอชิงตัน นั่นเอง
ความท้าทายใหม่ ภาพลักษณ์ใหม่
อันที่จริงแล้ว เจฟฟ์ เบซอส ก็ไม่ได้หายไปไหนไกลจากแอมะซอนมากนัก เพราะตำแหน่งหลังการอำลาตำแหน่งซีอีโอ เจฟฟ์ เบซอส ได้นั่งในตำแหน่งประธานกรรมการ ควบคู่ไปกับงานอื่นๆ ที่สร้างและซื้อระหว่างทำงานเป็นหัวเรือใหญ่ในแอมะซอน ทั้งบริษัทกองทุน สำนักข่าววอชิงตัน โพสต์ (Washington Post) บริษัทธุรกิจอวกาศบลูออริจิน (Blue Origin) และงานการกุศล โดยเฉพาะงานการกุศลนับเป็นสิ่งที่ผมอยากให้จับตามองดูเป็นพิเศษ
ย้อนหลังกลับไปในอดีตราวๆ ยี่สิบปีก่อน ในยุคที่ไมโครซอฟท์ อยู่ภายใต้การนำของบิล เกตส์ พูดกันตรงๆ ภาพลักษณ์ของบิล เกตส์ และไมโครซอฟท์ ก็ไม่ได้ดีอะไรมากนัก ไมโครซอฟท์ถูกมองว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจผูกขาด ก่อนที่บิล เกตส์ จะส่งไม้ต่อกับให้สตีฟ บอลเมอร์ เพื่อออกมาทำงานการกุศลในชื่อบิลและเมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) ซึ่งการเข้ามาทำงานด้านการกุศล ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของบิล เกตส์ เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
...
ทุกวันนี้ บิล เกตส์ กลายเป็นคนที่จุดประกายความหวังของมวลมนุษยชาติ เป็นบุคคลที่เคยเตือนผู้มีอำนาจในโลกใบนี้ให้ระวังการมาของโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดก่อนหน้าโควิดจะมาเคาะประตูบ้านชาวโลกล่วงหน้านานถึง 5 ปีเต็มๆ เป็นชายคนหนึ่งที่มีความพยายามลดความเหลื่อมล้ำของโลกใบนี้ เป็นชายสูงวัยที่มักจะแนะนำหนังสือดีๆ ให้ได้ลองอ่าน และเป็นนักเขียนที่เก่งจนหาตัวจับยากอีกคนหนึ่ง
ภาพของบิล เกตส์ และไมโครซอฟท์ นับว่าซ้อนทับกับภาพของเจฟฟ์ เบซอส และแอมะซอน อย่างไม่ผิดเพี้ยน แน่นอนว่าชื่อเสียงของเจฟฟ์ เบซอส และแอมะซอนที่ดีๆ ก็มีเยอะ แต่ชื่อเสียก็ใช่ว่าจะไม่มี ตามที่เรียนไว้ข้างต้น
ตรงจุดนี้ผมอยากให้จับตาย่างก้าวต่อไปของเจฟฟ์ เบซอส ทั้งงานการบริหารสื่อหนังสือพิมพ์ การบริหารบริษัทอวกาศ การเป็นนักลงทุนเพื่อหนุนให้ธุรกิจดาวรุ่งเป็นดาวค้างฟ้า และงานการกุศลจะช่วยทำให้ภาพลักษณ์ที่คนภายนอกมองมายังเจฟฟ์ เบซอส เปลี่ยนไปแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องมาดูกันหลังจากนี้
อ้างอิง