ผลสำรวจ 70,000 หนุ่ม-สาวอาเซียน “ASEAN Youth 2020” พบ 72% ปรับตัวรับวิกฤติโควิด-19 ได้ดี ทั้งการพัฒนาทักษะและหารายได้ใหม่ๆ เพศหญิงพร้อมมากกว่าชาย โดยเฉพาะการเพิ่มทักษะบริหารเงิน-เก็บออม โดยคนไทยรุ่นใหม่โดดเด่นที่สุดเรื่องการใช้อีเพย์เมนต์
รายงาน ASEAN Youth 2020 “COVID-19 : The True Test of Resilience and Adaptability” บ่งชี้ว่า แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้เกิดความท้าทายที่ไม่คาดคิด แต่คนรุ่นใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียนส่งสัญญาณที่ดี โดย 72% แสดงให้เห็นการเติบโตด้าน “Adaptability & Resilience” หรือความกระตือรือร้นและความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อสู้กับวิกฤติ
โดยหนุ่มสาวอาเซียน 48% ระบุว่าพร้อมรับมือสถานการณ์โรคระบาด ขณะที่ 41% บอกว่ามีการพัฒนาทักษะใหม่ๆ 38% เรียนรู้การคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ และ 31% สร้างรายได้จากช่องทางใหม่ๆได้สำเร็จ
ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ Sea (Group) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ตรายใหญ่ กล่าวว่า วิกฤติโควิดเป็นบทเรียนฉบับเร่งรัด ที่ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ต้องปรับตัวให้ฉับไวและทันต่อสถานการณ์ ซึ่งการสำรวจบ่งชี้ว่าคนรุ่นใหม่ในอาเซียนมีความคิด (Mindset) ที่ดี สะท้อนว่าบุคลากรซึ่งเป็นอนาคตของภูมิภาคเหล่านี้ จะสามารถฟื้นตัว ปรับตัว และตอบสนองต่อสภาวะวิกฤติได้ ทั้งจากวิกฤติโควิดที่ยังไม่จบ วิกฤติในอนาคตและในโลกแห่งการทำงาน
ผลวิจัยพบอีกว่า ผู้หญิงในกลุ่มอาเซียนมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาชุดทักษะใหม่ๆ มากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะทักษะทางการเงิน โดยจำนวนบุคคลที่ระบุว่าสามารถบริหารจัดการเงินได้ดีขึ้น จำแนกเป็นกลุ่มผู้หญิงและผู้ชายอยู่ที่ 63% และ 53% ตามลำดับ ส่วนจำนวนบุคคลที่ให้ความสำคัญกับเงินออมสำรองฉุกเฉิน จำแนกเป็นกลุ่มผู้หญิงและผู้ชายอยู่ที่ 63% และ 47% ตามลำดับ
...
นอกจากนั้น คนรุ่นใหม่เหล่านี้ยังแสดงให้เห็นถึงสัญญาณปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบดิจิทัลอย่างถาวร โดย87% บอกว่าใช้เครื่องมือดิจิทัล (Digital Tool) อย่างน้อย 1 อย่างในช่วงที่มีการแพร่ระบาด 42% ระบุว่าได้ทดลองใช้เครื่องมือดิจิทัลใหม่ที่ไม่เคยใช้งานมาก่อน โดยอินโดนีเซียและสิงคโปร์มีการขยายตัวของการรับเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ (Digital Adoption) ที่โดดเด่นเป็นพิเศษ โดยกว่าครึ่งของคนรุ่นใหม่ในทั้ง 2 ประเทศ ระบุว่าเลือกซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซถี่ขึ้น ส่วนประเทศไทยโดดเด่นด้านการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านอีเพย์เมนต์และอีแบงกิ้ง
อย่างไรก็ตาม แม้จะปรับตัวได้ดี แต่วิกฤติโควิด-19 ก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ซึ่ง 69% พบว่าการเรียนหรือทำงานทางไกล (Remote studying and working)เป็นเรื่องยากลำบาก และ 7% ไม่สามารถเรียนหรือทำงานทางไกลผ่านออนไลน์ได้เลย
กลุ่มที่เปราะบางและมีปัญหาเป็นกลุ่มที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี โดยอุปสรรคที่เจอ ได้แก่ การขาดทักษะดิจิทัลที่จำเป็น, การขาดความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่มีคุณภาพในราคาที่จับต้องได้, การขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องเงินรุนแรงที่สุด คือกลุ่มแรงงานอิสระ (Gig economy workers)
ทั้งนี้ รายงานเรื่อง ASEAN Youth 2020 “COVID-19 : The True Test of Resilience and Adaptability” เป็นรายงานการสำรวจที่ Sea Insight ซึ่งเป็นทีมวิจัยและนโยบายสาธารณะของ Sea (Group) จัดทำร่วมกับสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) เป็นการสำรวจ
ครั้งใหญ่บนแพลตฟอร์มช้อปปี้ (อีคอมเมิร์ซ) และการีนา (ดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนต์) จากคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 16-35 ปี ราว 70,000 คนใน 6 ประเทศอาเซียน ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม.