หลังจากที่รัฐบาลอินเดียประกาศแบนแอปพลิเคชันสัญชาติจีนถึง 59 แอป เปิดใช้งานได้ในประเทศอินเดีย โดยขอความร่วมมือไปยังแพลตฟอร์มไอโอเอส และแอนดรอยด์ให้ทำการถอดแอปออกจากแอปสโตร์และเพลย์สโตร์

ด้วยเหตุผลความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและข้อมูลส่วนตัว ซึ่งจริงๆแล้วก็ย่อมเป็นที่ทราบกันดีถึงความขัดแย้งของสองมหาอำนาจที่เกิดการกระทบกระทั่งกันที่ชายแดนบนเทือกเขาหิมาลัย

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า TikTok ซึ่งเป็นแอปจากจีนที่กำลังมาแรงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากไปทั่วโลก โดยเฉพาะอินเดียถือว่าเป็นตลาดภายนอกประเทศจีนที่ใหญ่ที่สุด มียอดการดาวน์โหลดมากกว่า 200 ล้านครั้ง ได้รับผลกระทบจนฝ่ายบริหารต้องออกมาเรียกร้องการยุติปัญหาดังกล่าว

ขณะเดียวกันทางฝ่ายพัฒนาแอปพลิเคชันของอินเดียมองว่านี่จะเป็นโอกาสที่แอปท้องถิ่นจะได้ลืมตาอ้าปากนำผลงานการพัฒนาของชาวอินเดียออกสู่ตลาดโลกกันบ้าง

ซีเอ็นบีซีดอทคอม ได้ยกตัวอย่างแอปอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ รายที่กำลังช่วงชิงสถานการณ์นี้เช่น แอป Chingari ซึ่งเป็นแอปแชร์วิดีโอสั้นๆ เพิ่งเปิดตัวได้ไม่ถึงหนึ่งเดือนเต็มในเพลย์สโตร์มีผู้เข้าไปดาวน์โหลดใช้งานกันแล้ว 10 ล้านครั้ง

“สุมิตร โกช” ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์กล่าวว่า ธุรกิจสตาร์ตอัพของเขาจะร่วมกระบวนการปิดการระดมทุนในรูปแบบ Series A ในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นการระดมทุนร่วมทุนครั้งแรกด้วยการขายหุ้นให้กับนักลงทุนเพื่อแลกกับการลงทุนของพวกเขาจำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300 ล้านบาท

การระดมทุนนี้เพื่อรับมือกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของผู้ใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ เขากล่าวว่า โครงสร้างแอปของเขาได้ใช้พื้นฐานทางเทคนิคของ Amazon Web Services

เขาย้ำด้วยว่า การระดมทุนของเขาจะไม่ระดมเงินจากนักลงทุนจีน ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม จะดำเนินการในสหรัฐฯหรืออังกฤษที่นั่นมีเงินทุนจำนวนมาก แน่นอนว่าไม่ใช่จากจีน

...

สำหรับแอปพลิเคชัน Roposo ซึ่งเป็นแอปวิดีโอแชร์ริ่งท้องถิ่นของอินเดียเช่นกัน มีรายงานว่ามีผู้ใช้เพิ่มขึ้นทันที 22 ล้านครั้งจากปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแล้ว 80 ล้านครั้ง โดยก่อนทางการอินเดียประกาศแบนแอปจากจีนมียอดดาวน์โหลด 50 ล้านครั้ง โดยเป้าหมายอยู่ที่ 100 ล้านดาวน์โหลดจากการเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2014 โดยมีเป้าหมายเปิดให้บริการไปทั่วโลก

ขณะเดียวกันแอปจากจีนเริ่มที่จะโดนทางการสหรัฐฯแบนซ้ำด้วยการหยิบยกเหตุผลความมั่นคงว่าแอปเหล่านี้จะส่งข้อมูลให้รัฐบาลจีน ซึ่งกรณีนี้ทาง TikToK ได้ปฏิเสธมาตลอด

นับว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดหากถูกแบนจริง.

หนุ่มดิจิทัล
cybernet@thairath.co.th