เทคโนโลยีช่วยติดตามลูกค้า www.ไทยชนะ.com คึกคัก คนไทยเข้าห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ ตื่นตัวแห่เช็กอิน สแกน QR Code ทะลุ 1 ล้านคน ภายในระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง เตือนร้านค้าใส่จำนวนรองรับลูกค้าให้ถูกต้อง ดีอีเอสย้ำไม่กระทบข้อมูลส่วนบุคคล

นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่าแพลตฟอร์มไทยชนะ www.ไทยชนะ.com ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการใช้บริการของประชาชนในสถานที่ต่างๆ เพื่อส่งให้กรมควบคุมโรคในการติดตามและประเมินสถานการณ์ของโรคระบาด

ทั้งนี้ในช่วงเช้าเวลาประมาณ 11.30 น. ในการแถลงที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ตรวจสอบพบว่า ทั่วประเทศมีร้านค้าลงทะเบียนแล้ว 26,736 ร้านค้า ผู้ใช้งานสะสมที่มาเช็กอิน และเช็กเอาต์ 155,486 คน

...

จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.00 น. นพ.พลวรรธน์ เปิดเผยว่า มีร้านค้ามาลงทะเบียนกว่า 30,000 ร้านค้า มีผู้ใช้งานสะสมที่มาเช็กอิน และเช็กเอาต์ รวมแล้วประมาณ 1 ล้านคน ในช่วงประมาณ 4 ชั่วโมง หลังเปิดห้างสรรพสินค้าเมื่อเวลา 10.00 น. และมีคนที่ยังอยู่ในห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ประมาณ 5 แสนคนทั่วประเทศ

ส่วนที่มีปัญหาในช่วงเที่ยงที่ลูกค้าไปห้างสรรพสินค้าบางแห่ง แล้วเช็กอินไม่ได้ เพราะมีการอัปเดตข้อมูลจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่บางแห่ง กรอกข้อมูลจำนวนรองรับลูกค้าไม่ถูกต้อง จึงต้องมีการอัปเดตข้อมูลของผู้ประกอบการใหม่

ขั้นตอนลงทะเบียนร้านค้า ลูกค้าเช็กอิน

สำหรับการใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะนี้ นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า ร้านค้ามีขั้นตอนลงทะเบียน สำคัญคือชื่อผู้ติดต่อ กรอกชื่อ-นามสกุล ให้ถูกต้อง และตัวเลขประจำตัวประชาชนครบ 13 หลัก จุดสำคัญคือ กรอกเลขที่อยู่หลังบัตรประจำตัวประชาชน มีอักษร 2 ตัวแรกเป็นภาษาอังกฤษ ที่เหลือเป็นตัวเลข เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล

อีเมลเป็นช่องทางเพื่อไว้ให้ไทยชนะติดต่อกับผู้ประกอบการ ที่ระบบจะแจ้งเตือนว่าลงทะเบียนถูกต้องหรือไม่ จะไม่มีการให้เจ้าหน้าที่โทรไปหา ดังนั้นการยืนยันกลับมีเพียงช่องทางอีเมลภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น หากใครได้รับโทรศัพท์ ถือว่าเป็นมิจฉาชีพที่โทรไป เมื่อลงทะเบียนถูกต้อง ก็สามารถนำ QR Code ให้ลูกค้าสแกนได้

สำหรับประชาชนหรือลูกค้า เมื่อไปที่จุดบริการ ให้ใช้กล้องโทรศัพท์มือถือสแกน QR Code เพื่อเช็กอิน กรอกเบอร์โทรศัพท์มือถือ เมื่อใช้บริการแล้วก็ต้องเช็กเอาต์ โดยส่อง QR Code ที่เดิม

นพ.พลวรรธน์ ยืนยันว่า ระบบนี้ไม่กระทบกับข้อมูลสิทธิส่วนบุคคล และเป็นประโยชน์ในการติดตามและเฝ้าระวังการระบาดของโรค เพราะข้อมูลจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมดจะส่งให้กรมควบคุมโรคต่อไป

นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ในอนาคต ช่วยให้หลีกเลี่ยงไม่ไปในสถานที่ที่คนหนาแน่น เพื่อช่วยป้องกันโรคระบาด สามารถใช้ทางเลือกนี้ในการเช็กว่า ร้านอาหาร หรือร้านค้าที่เราจะไปนั้น มีคนใช้บริการเต็มร้าน หรือล้นพื้นที่ที่ผู้ให้บริการเตรียมไว้หรือไม่.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

...