การช็อปปิ้งออนไลน์ของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป จากเดิมช็อปแต่เสื้อผ้า ของใช้ มาเริ่มซื้ออาหาร ของสดมากขึ้น จนกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ที่จะเป็นเรื่องปกติ และเป็นโอกาสของคนที่จะขายของออนไลน์ ส่วนธุรกิจค้าปลีกเอง ก็ต้องปรับตัวมากขึ้น 

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุถึงแนวโน้มธุรกิจการค้าปลีก และพฤติกรรมการซื้อของผ่านทางออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ให้บริการทั้งรายใหญ่และรายย่อยไม่ต่ำกว่า 600,000 รายว่า หลังจากผู้คนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด ต้องล็อกดาวน์อยู่บ้าน เว้นระยะห่างกัน แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการบ้างแล้ว แต่ก็ยังทำให้ไม่กล้าไปจับจ่ายใช้สอยกันเหมือนเดิม

ดังนั้นโอกาสของการขายของผ่านทางออนไลน์จะเปลี่ยนไป ทั้งการขายของผ่านเฟซบุ๊ก ขายของผ่านไอจี หรือขายของผ่านไลน์ ซึ่งอะไรจะขายดี และช่องทางไหนบ้าง มาสำรวจกัน

ก่อนเกิดโควิด-19 สินค้าขายดีคือ สินค้าแฟชั่น อุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเบ็ดเตล็ด ส่วนหลังโควิด-19 มีกลุ่มสินค้าที่ขายดี 4 กลุ่มหลักคือ

...

1. อาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์

2. อาหารแปรรูป ทั้งเบเกอรี่ ขนม อาหารคาว

สินค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้ ช่วงก่อนโควิด-19 คนจำนวนมากไม่กล้าซื้อทางออนไลน์เพราะไม่มั่นใจเรื่องความสด วันหมดอายุ การจัดส่งและความอร่อย แต่เมื่อตอนนี้ได้ลองกันแล้ว ก็ทำให้คุ้นเคยสั่งซื้อกันมากขึ้น

สำหรับกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค และกลุ่มที่ 4 คือสินค้าดูแลสุขภาพ ก็มีโอกาสขายดีตามมา

ส่วนแพลตฟอร์ม หรือช่องทางการขาย มี 3 ช่องทางหลัก คือ
1. โซเชียลคอมเมิร์ซ ที่นอกจากมีเครือข่ายใหญ่ให้บริการขายแล้ว ยังมีกลุ่มโซเชียลคนทั่วไป ที่ส่วนใหญ่โพสต์ขายกันมากในขณะนี้ คืออาหารสด อาหารแปรรูป สินค้าเกษตร

2. ขายผ่านช่องทางออนไลน์ของกลุ่มค้าปลีก ที่มีทั้งสินค้าอุปโภค และอาหารสด ที่กลุ่มธุรกิจค้าปลีกก็ต้องปรับตัวในการนำสินค้ามาเสนอลูกค้ามากขึ้น 

3. กลุ่ม E-Market Place แพลตฟอร์มที่ให้บริการฝากขายสินค้า ซึ่งยังเหมาะกับกลุ่มแฟชั่น อุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า ของตกแต่งบ้าน

ในเวลานี้ หลายคนที่กำลังมองหาช่องทางการขายของออนไลน์ ลองหาสินค้าที่คิดว่าใช่ ตามความต้องการของลูกค้า แล้วลงมือ เพราะวิกฤตินี้อาจเป็นโอกาสใหม่สำหรับทุกคนก็ได้