ในยุคที่การตลาดดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจ เราก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่เราควรจะต้องโฟกัสมากขึ้น โฆษณาออนไลน์ที่พวกเราพบเห็นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เราต้องปรับตัวอยู่เสมอ และแน่นอนว่า การสร้างโฆษณา Facebook Ads เป็นอีกหนึ่งโฆษณาออนไลน์ที่น่าทำ
แต่บางคนอาจจะเข้าใจว่า Facebook Ads ก็ทำเพียงแค่ “Boost Post” ก็ถือเป็นการทำโฆษณาแล้ว ซึ่งจริงๆ “Boost Post” เป็นเพียง 1 ใน 13 Campaign Objectives (วัตถุประสงค์การทำโฆษณา)เท่านั้น โดยเราสามารถแบ่ง ออกเป็น 3 หมวดหมู่ตาม Marketing Stage คือ Awareness (การรับรู้), Consideration (การพิจารณา) และ Conversion (จำนวนยอดขายที่เกิดขึ้นจริงกับธุรกิจ)

Awareness (การรับรู้)
ในส่วนแรกของ marketing objective คือ การเพิ่มระดับการเป็นที่รู้จักให้กับแบรนด์ เป็นการบอกกับผู้คนว่า ธุรกิจของเราคืออะไร และสินค้าเราเป็นแบบไหน เช่น นาย ก. กำลังจะเปิดตัวร้านขนมปังสไตล์โฮมเมด ที่ออร์แกนิกในย่านสีลม จึงได้ใช้ “Brand Awareness” ในการโฆษณาเพื่อให้ผู้คนในพื้นที่ (หรือคนที่สนใจขนมปังออร์แกนิก) ได้รับรู้ถึงการมีตัวตนของร้านขนมปัง เป็นต้น
โดย Objective ที่จะช่วยให้แบรนด์เพิ่ม Awareness ได้มี 2 แบบคือ
⦁ Brand Awareness – เน้นเพื่อให้คนจดจำได้, ทำให้คนคุ้นเคยกับแบรนด์ใหม่ที่คนยังไม่ค่อยรู้จัก
⦁ Reach – เน้นให้คนเห็นโฆษณาของเรามากที่สุด โดยสามารถตั้งความถี่ในการมองเห็นได้ เช่น ให้คนเห็นโฆษณาตัวนี้ 1 ครั้งต่อ 1 อาทิตย์ เป็นต้น
Consideration (การพิจารณา)
การพิจารณาเกิดขึ้นเมื่อแบรนด์ หรือสินค้าของเราเป็นที่รู้จักระดับหนึ่ง ผู้คนเริ่มสนใจและหาข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงทำการเปรียบเทียบสินค้ากับคู่แข่งต่างๆ โดยโฆษณาในระยะนี้จะเน้นในเรื่องให้คนมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ตัวอย่างเช่น ร้านขนมปังโฮมเมดของนาย ก. มีเว็บไซต์ที่บอกเล่าเรื่องราวการทำขนมปังแบบออร์แกนิก พร้อมข้อเสนอพิเศษต่างๆ ที่ทางร้านมีให้ นาย ก. จึงเลือกใช้ “Traffic” เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนได้เข้าชมเว็บไซต์ของตัวเอง
ในส่วนของ Consideration จะมี 8 Objective ด้วยกัน
⦁ Traffic – หาคนเข้าเว็บไซต์ โดยเฉพาะคนที่มีพฤติกรรมชอบคลิก เช่น เว็บไซต์, บทความ, หน้าสินค้า
⦁ Engagement – เป็นวัตถุประสงค์ที่มีคนใช้งานเยอะที่สุด ผลลัพธ์ที่จะได้ คือจำนวนการมีส่วนร่วมกับโพสต์ (Post Engagement) เช่น Like Share Comment เป็นต้น
⦁ App Installs – กระตุ้นให้คนดาวน์โหลดแอปของเรา
⦁ Video Views –สิ่งที่เราจะได้รับเมื่อใช้วัตถุประสงค์นี้ คือ มีคนรับชมวิดีโอนานขึ้น หรือมากขึ้น
⦁ Lead Generation – เก็บฟอร์มข้อมูลเพื่อติดต่อในภายหลัง เช่น อีเมล ชื่อ-สกุล เบอร์ติดต่อ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเหมาะกับสินค้า หรือบริการที่ต้องใช้ระยะเวลาในการตัดสินใจซื้อที่ยาวนาน ไม่เหมาะกับ FMCG
⦁ Messages – เน้นให้คนเริ่มสนทนาผ่าน Facebook Messenger ซึ่งคนไทยจะเรียกกันติดปากว่าอินบ็อกซ์ วัตถุประสงค์นี้สามารถที่ทำให้เกิดการแชตมากๆ ได้
Conversion (จำนวนยอดขายที่เกิดขึ้นจริงกับธุรกิจ)
Conversions มักไม่มีคำจำกัดความที่ตายตัว ในบางที่อาจจะเรียกว่า Orders, Leads, Sign Up และอื่นๆ อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจนั้นๆ ให้บริการทางด้านใดเป็นหลัก อาจจะเป็นการสั่งซื้อของก็ได้ เป็นการสมัครสมาชิก การลงทะเบียน การสมัครรับข้อมูลข่าวสาร การอ่านบทความในหน้าเพจจนจบ และอื่นๆ ที่สร้างประโยชน์ให้กับเรา ยกตัวอย่างเช่น ร้านขนมปังโฮมเมดของนาย ก. ได้เปิดสาขาใหม่อีก 2-3 สาขา นาย ก. จึงใช้ “Store Traffics” เพื่อที่จะได้สร้างโอกาสให้ลูกค้าได้แวะมาที่ร้านใกล้บ้านได้
ซึ่งมี Objective ที่จะช่วยเราได้ 3 อย่าง คือ
⦁ Conversion – หากลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสจะทำ Action ที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของเรา เช่น ซื้อสินค้าในเว็บไซต์, ลงทะเบียนรับข่าวสาร เป็นต้น
⦁ Catalog Sale – แสดงแคตตาล็อกสินค้าที่มีอยู่บนเว็บไซต์โดยอัตโนมัติ และส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายที่สนใจ
⦁ Store Traffics – ส่งโฆษณาให้กับคนที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงกับร้านค้าของเรา
เมื่อเราได้รู้จักกับ Objectives ต่างๆ ของ Facebook Ads แล้วหน้าที่ของเรา คือ การเลือกวัตถุประสงค์ให้ถูกต้อง ตรงตามวัตถุประสงค์ในการทำการตลาดในครั้งนั้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์โฆษณาที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการที่สุด โดยเราสามารถเข้าไปสร้าง Facebook Ads ได้ถึง 3 ช่องทาง
1. แอปพลิเคชัน Facebook ที่ไอคอนเป็นตัวเอฟสีขาวบนพื้นสีฟ้า เป็นแอปหลักที่เราใช้เล่น Facebook กัน สามารถใช้ทำโฆษณาได้โดยการเข้าไปที่ Facebook Page ที่เราดูแล และกดปุ่ม “Boost Post” หรือ “Promote”
2. แอปพลิเคชัน Facebook Pages Manager (ตัวจัดการเพจ) ที่ไอคอนเป็นธงส้มบนพื้นสีขาว แอปตัวนี้ Facebook พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้จัดการดูแล Facebook Page ของเราได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งการที่เราสามารถสร้างโฆษณาได้ด้วยวิธีเดียวกับแอปแรก คือการกดปุ่ม “Boost Post” หรือ “Promote” ที่ปรากฏอยู่ในหน้าเพจนั่นเอง
3. แอปพลิเคชัน Facebook Adverts Manager (ตัวจัดการโฆษณา) ที่ไอคอนเป็นรูปวงกลมสีเขียวอมฟ้าบนพื้นสีขาว แอปตัวนี้เป็นของ Facebook เช่นกัน ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการทำ Facebook Ads โดยเฉพาะ ซึ่งเราสามารถสร้างโฆษณาได้ละเอียดกว่าแอป Facebook Pages Manager แถมมีวัตถุประสงค์ให้เลือกที่หลากหลายกว่า รวมทั้งสามารถใช้ดูผลลัพธ์โฆษณาที่ได้ทำไปแล้ว และสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงโฆษณาได้ง่าย แอปตัวนี้เหมาะที่จะใช้ในการดูผลลัพธ์โฆษณาแบบไม่ต้องการความละเอียดมาก เนื่องจากใช้งานผ่านมือถือ ทำให้สามารถดูผลลัพธ์ได้สะดวก พร้อมแก้ไขโฆษณาเบื้องต้นได้ง่าย
ถึงแม้ว่าการสร้างโฆษณา Facebook Ads ผ่านแอปพลิเคชัน จะเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสูง แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการสร้างโฆษณาผ่านเว็บไซต์ www.facebook.com บนคอมพิวเตอร์นั่นเอง ซึ่งจะได้การใช้งาน Facebook Ads แบบเต็มประสิทธิภาพ ครบทุกฟังก์ชั่น
และสำหรับใครที่ยังไม่มั่นใจ หรือรู้สึกว่าการทำ Facebook Ads ยังเป็นเรื่องยากอยู่ เราสามารถเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างละเอียดได้ที่ Boostwithfacebook.com ได้เลย