เปิดทดลองเทคโนโลยี 5 จีมาได้ราว 3-4 เดือนเศษ ล่าสุดเอไอเอสพร้อมโชว์ นำรถยนต์ไร้คนขับมาประกาศความแรงของ 5 จีข้ามภูมิภาคครั้งแรก โดยคนขับนั่งควบคุมรถอยู่ในกรุงเทพฯ แต่รถแล่นอยู่ที่หาดใหญ่

การควบคุมรถจากระยะไกลดังกล่าว สำเร็จได้ด้วยเทคโนโลยี 5 จี (5th Generation : 5G) ซึ่งมีคุณสมบัติทั้งความเร็วในการรับส่งสัญญาณ (Throughput) ความเร็วในการตอบสนอง (Latency) และความเสถียรของระบบ (Stability) อันทำให้การควบคุมรถจากกรุงเทพฯทั้งๆที่รถวิ่งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทำได้สำเร็จ

ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ความพยายามของภาครัฐและเอกชนเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยผ่านเทคโนโลยี 5 จี เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยนายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อยกระดับการทดสอบ 5 จีให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก

...

การทดสอบเทคโนโลยี 5 จีบนคลื่นความถี่ย่าน 28 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) ครั้งนี้ เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ด้วยหวังต่อยอด 5 จี ในการสอดส่องดูแลความปลอดภัยและยกระดับการใช้ชีวิตของชุมชนพี่น้องภาคใต้

เริ่มจาก 1. 5G Remote Control Vehicle หรือเทคโนโลยีการบังคับรถยนต์ไร้คนขับทางไกลข้ามภูมิภาคครั้งแรกของไทย ระหว่างกรุงเทพฯ-สงขลา ที่ผู้บังคับรถไม่จำเป็นต้องอยู่ในตัวรถ แต่สามารถบังคับรถให้เคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ต่างๆตามต้องการ ผ่านการสั่งงานระยะไกลแบบเรียลไทม์ บนเครือข่าย 5 จี ซึ่งข้อมูลต่างๆจะถูกส่งต่อผ่านระบบ Video Analytics และสามารถ Streaming Video ที่มีความละเอียดสูงกลับมาหาผู้ควบคุมรถได้ทันที ซึ่งเทคโนโลยีนี้จำเป็นต้องใช้ศักยภาพของ 5 จีทั้งความเร็วในการรับส่งสัญญาณ (Through– put) ความเร็วในการตอบสนอง (Latency) และความเสถียรของระบบ (Stability)

การนำไปใช้งานหรือ Use Case สำหรับเทคโนโลยีดังกล่าว ทำได้ตั้งแต่นำรถไปใช้ในพื้นที่เสี่ยงภัย ลาดตระเวน โดยไม่จำเป็นต้องมีคนขับนั่งอยู่ในรถ รวมไปถึงการทำธุรกิจบางประเภท เช่นสำรวจเหมืองที่อยู่ในพื้นที่อันตราย เสี่ยงต่อดินหรือหินถล่ม เป็นต้น

2. นวัตกรรม Vehicle to Vehicle : V2V หรือการสื่อสารระหว่างรถต่อรถผ่าน 5 จี ทำให้รถยนต์ 2 คัน สามารถสื่อสารข้อมูลการขับขี่ ข้อมูลความปลอดภัย และข้อมูลการจราจรไปมาระหว่างกันเองได้แบบทันท่วงที ช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรในเส้นทาง

3. นวัตกรรม Mobile Surveillance /Object Detection หรือรถตรวจตราและรักษาความปลอดภัย ซึ่งทำงานด้วย Video Analytics และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้วยการนำข้อมูลวิดีโอจากกล้องวงจรปิดบนยานพาหนะส่งต่อผ่านเครือข่าย 5 จีไปยังห้องควบคุมกลาง ทำให้สามารถวิเคราะห์ภาพจำแนกวัตถุรอบคันรถ เช่น ป้ายทะเบียนต้องสงสัย, รุ่นของรถ, สีและลักษณะของรถ และการแจ้งเตือนความเสี่ยงในพื้นที่ต่างๆได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ โดยหากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องแจ้งข้อมูลรถต้องสงสัยเข้ามาในพื้นที่ระบบก็จะสามารถแกะรอย และแจ้งเตือนทันทีที่รถคันดังกล่าวขับเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้การเฝ้าระวังพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ.

...