ในโลกของข้อมูลข่าวสารออนไลน์วันนี้ มักมีคำถามให้ต้องขบคิดกันอยู่ตลอด โดยเฉพาะคำถามว่า ผู้บริโภคจะแยกแยะได้อย่างไรว่า ข้อมูลข่าวสารที่เสพกันอยู่ทุกวันนี้ผ่าน Social Media ส่วนใดเชื่อถือได้ ส่วนใดเชื่อถือไม่ได้ และที่สำคัญคือ ในเมื่อทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ แล้วจะแยกแยะว่า สำนักข่าวไหนเป็นสื่อวิชาชีพ และสำนักข่าวไหนไม่ใช่ หรือเป็นแค่สื่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคล
หากจะต้องตอบแล้ว คำตอบที่ตอบง่ายที่สุด แต่อาจจะเข้าใจค่อนข้างยากคือ การใช้มาตรฐานทางจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือในการแยกแยะ อย่างไรก็ตาม ก็มีการตั้งคำถามกับสื่อที่เรียกตัวเองว่าเป็นสื่อวิชาชีพอยู่บ่อยๆ ว่า บางครั้งก็มีการละเมิดจริยธรรมสื่ออย่างโจ่งแจ้ง แล้วอย่างนี้จะยังเรียกว่าเป็นสื่อวิชาชีพได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในช่วงของความพยายามในการปฏิรูปสื่อที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามตั้งกลไกขึ้นมาผลักดันจนเป็นรูปเป็นร่างกฎหมายส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งล่าสุด คุณพรรณิการ์ วานิช ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ได้นำมาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรในวาระว่าด้วยการรับทราบรายงานการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศ โดยกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่ามีเนื้อหาในการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน แต่น่าเสียดายเพราะเป็นการนำร่างเก่าตั้งแต่ครั้งที่จัดทำโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งเป็นร่างที่มีเนื้อหาขัดกับหลักการกำกับดูแลกันเองของสื่อมาอภิปราย
...
ในด้านของความเป็นมานั้น จริงๆ แล้วร่างกฎหมายนี้ได้มีการยกร่างครั้งแรกในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อนที่ สปท.จะนำร่างนั้นมาต่อยอดจนได้รับการคัดค้านจากองค์กรสื่อ เพราะมีเนื้อหาขัดกับหลักการกำกับดูแลกันเองของสื่ออย่างชัดแจ้งตามที่คุณพรรณิการ์ได้อภิปรายไว้ แต่ต่อมารัฐบาล คสช.ได้ส่งเรื่องนี้ต่อไปให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนฯ พิจารณา ซึ่งเมื่อจัดทำเป็นแผนแล้วก็ได้ส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนยกร่างใหม่ให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนฯ
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายนี้ขึ้น โดยให้มีองค์กรวิชาชีพผู้แทนสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งวิชาการสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ โดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชนทั่วประเทศก่อนที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายฯ จะพิจารณาครั้งสุดท้ายและส่งให้ ครม.อนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ก่อนที่จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาตามขั้นตอน
ต่อมา คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตั้งคณะกรรมการคณะพิเศษที่มี ศ.มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานขึ้นมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยเชิญผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อ ตัวแทนคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายฯ เข้าประชุมด้วยทุกครั้ง โดยเริ่มพิจารณาทุกวันอังคาร ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์–11 มิถุนายน 2562 ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจทานร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจะส่งให้ ครม.ชุดใหม่พิจารณาต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษพิจารณาเสร็จแล้วมีดังนี้
1) ให้มี “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพ และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในการปฏิบัติตามจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาจริยธรรมสื่อมวลชนและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
2) สภาวิชาชีพฯ มีหน้าที่และอำนาจ อาทิ การรับจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ส่งเสริมการคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ปฏิบัติตามจริยธรรม ติดตามดูแลการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้เป็นไปตามจริยธรรม ส่งเสริมการรวมกลุ่มและกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน ฯลฯ
3) รายได้หลักของสภาวิชาชีพฯ มาจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เป็นรายปีตามที่สภาร้องขอตามความจำเป็น แต่ไม่น้อยกว่าปีละ 25 ล้านบาท
4) กรรมการสภาวิชาชีพฯ ประกอบด้วย 1.ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ผ่านการเลือกกันเองและสรรหารวม 5 คน 2.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คนมาจากผู้มีประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อฯ กฎหมาย สิทธิมนุษยชน คุ้มครองผู้บริโภค และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอิสระ ด้านละ 1 คน และ 3.กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมแล้วมีกรรมการทั้งหมด 11 คน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี
5) คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน มีหน้าที่และอำนาจ อาทิ การบริหารกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาฯ กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมฯ พิจารณาการขอจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน พิจารณาเรื่องร้องเรียนที่มีการละเมิดเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พิจารณาอุทธรณ์คัดค้านผลการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรม พิจารณารับรองหลักสูตรหรือการฝึกอบรมในเรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครองหรือส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชน ฯลฯ
...
6) ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จัดให้มีสำนักงานสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อทำหน้าที่ด้านธุรการและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาและคณะกรรมการสภา
7) ให้คณะกรรมการสภาฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมจำนวน 7 คนจากกรรมการสภาฯ 2 คน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 1 คน และผู้แทนนักวิชาการสื่อฯ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคและสภาทนายความ อีกด้านละ 1 คน โดยมีหน้าที่ในการตรวจสอบและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน
8) คณะกรรมการจริยธรรรมมีอำนาจตรวจสอบและพิจารณาเรื่องร้องเรียนได้เฉพาะในกรณีที่ผู้ถูกร้องเรียนไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่จดแจ้งกับสภาฯ เท่านั้น ในกรณีที่เป็นเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในอำนาจขององค์กรวิชาชีพที่จดแจ้งแล้ว จะต้องส่งให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นพิจารณา โดยคณะกรรมการจริยธรรมและสภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ (ตามหลักการกำกับดูแลกันเองของสื่อ) เว้นแต่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นเพิกเฉยดำเนินการพิจารณาเรื่องร้องเรียน หรือดำเนินการพิจารณาต่ำกว่ามาตรฐานจริยธรรมที่สภาวิชาชีพกำหนด
...
9) โทษจากการฝ่าฝืนจากการไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน ได้แก่ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ และตำหนิโดยเผยต่อสาธารณชน ทั้งนี้ อาจสั่งให้มีการเยียวยาเพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนด้วย และในกรณีที่คณะกรรมการจริยธรรมเห็นว่าการฝ่าฝืนจริยธรรมเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย จะแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปก็ได้
10) บทเฉพาะกาล กำหนดให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยธุรการของสภาฯ และมีคณะกรรมการสภาชั่วคราวจำนวน 11 คน จากกรมประชาสัมพันธ์ กสทช. ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่จัดทำข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศ เท่าที่จำเป็นเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวิชาชีพ ฯลฯ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 180 วันนับแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับ และดำเนินการให้มีคณะกรรมการสภาฯ ชุดแรกภายในเวลา 270 วัน (เมื่อครบ 2 ปี กรรมการชุดแรกจะต้องมีการจับสลากออกจำนวน 4 คน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของคณะกรรมการสภาฯ)
ทั้งหมดนี้ เป็นสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ส่วนรายละเอียดรายมาตราจะเป็นอย่างไร คงต้องรอร่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเสร็จ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่น่าจะมี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลเรื่องสื่อเป็นเจ้าภาพหลักในเร็วๆนี้...
...
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
www.twitter.com/chavarong