เป็นเรื่องปกติของผู้ปกครองส่วนใหญ่ ที่จะวิตกกังวลต่อพฤติกรรมของลูกหลาน นั่งจับเจ่าติดหน้าจอมอนิเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ ไม่ยอมอ่านตำราศึกษาบทเรียน
เรื่องนี้แม้จะเหนื่อยสักหน่อย แต่ก็สามารถแก้ปัญหาได้ หากบ่มเพาะให้รู้จักการบริหารจัดการเวลา อย่างไรก็ตาม มีเสียงอีกส่วนหนึ่งเช่นกัน บอกว่าลูกติดจอจริง แต่มิได้เล่นเอง กลับชอบเปิดยูทูบนั่งดูคนอื่นเล่น
ประเด็นดังกล่าว เรียกว่าเป็นกระแสฮิตในโลกยุคปัจจุบันอย่างยิ่ง และท่านผู้อ่านที่เล่นโซเชียล บ่อยๆ อาจเคยเห็นผ่านตาในแชนแนลยูทูบต่างๆ หรือหากไม่เคยก็เพียงลองพิมพ์ค้นหาใส่ชื่อเกมลงไป หรือพิมพ์ว่าสตรีมเกม ผลลัพธ์จะขึ้นเต็มไปหมด มีทั้งวัยรุ่นหนุ่มสาวหรือเด็ก มานั่งเล่นเกมพร้อมอธิบายเป็นฉากๆ
โดยรูปแบบจะไม่ต่างกันมากนัก วิดีโอเกมที่นำมาเล่นโชว์จะถูกแสดงแบบเต็มจอ เหมือนเรานั่งเล่นเกมด้วยตัวเอง ขณะที่หน้าตาของคนเล่นให้เราดูก็จะอยู่มุมใดมุมหนึ่งของจอภาพ เพื่อให้ผู้ชมรับรู้อารมณ์ไปด้วยกันไม่ว่าตกใจ หัวเราะ หวาดกลัวแหกปาก ฯลฯ ขณะที่บางคนไม่โชว์หน้าตัวเอง แต่ใช้วิธีพากย์เสียงทับลงไป อธิบายว่าตัวละครในเกมกำลังพูดอะไร หรือใส่ความเห็นส่วนตัวสไตล์ตลกขบขันหรือเอาจริงเอาจัง
...
คงจะไม่ผิดนัก ถ้าจะบอกว่าเทรนด์ดูคนอื่นเล่นเกม ได้รับความโด่งดังมานานตั้งแต่ 9 ปีก่อนในต่างประเทศจากยูทูบเบอร์ชาวสวีเดนที่ใช้ชื่อบัญชีว่า “พิวดีพาย” (pewdiepie) ทำการเล่นเกมให้คนอื่นดู จนกลายเป็นที่นิยมไปทั่ว ด้วยสไตล์การเล่นเรียกเสียงฮาเอาสนุกเข้าว่า โดยเฉพาะเวลาเล่นเกมสยองขวัญ หนีปีศาจ บ้านผีสิง
และแน่นอนว่าด้วยยอดผู้ติดตามของพิวดีพายที่สูงลิบลิ่ว (เดือน เม.ย.2562-95 ล้านคน และยอดผู้เข้าชมคลิปทำสถิติ 21,000 ล้านครั้ง) ทำให้ค่าตอบแทนก็สูงตามไปติดๆ มีโฆษณาเข้า สปอนเซอร์จัดเต็ม จนมีทรัพย์สินส่วนตัวรวมประมาณ 30-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 930-1,550 ล้านบาท จึงไม่แปลกที่ภายหลังพิวดีพายฮิตติดลมบน จะมีผู้ทำแชนแนลเล่นเกมให้ดูตามอย่างกันเป็นแถวทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย
กระนั้น ก็มีบางส่วนที่ออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง จับผู้หญิงมานั่งเล่นเกมให้ดู แต่เอาเข้าจริงกลับมีจุดประสงค์โชว์ร่างกายสัดส่วน ขายความสะบึม หวังเรียกยอดผู้ชมผู้ติดตามเพียงอย่างเดียว หรือกระทั่งถึงขั้นแก้ผ้าแก้ผ่อนเลยก็มี แต่ระยะหลังบริษัทผู้ดูแลเว็บไซต์เหล่านี้ ก็มีการแก้ปัญหาช่วยสอดส่องเป็นหูเป็นตา และสั่งระงับบัญชีผู้เผยแพร่ภาพไม่เหมาะสม
ด้วยเหตุนี้ การนั่งดูคนเล่นเกมจึงถือเป็นสิ่งที่เด็กในยุคปัจจุบันหลีกหนีไม่พ้น แต่กรณีนี้ก็มิได้ถือว่าเป็นกระแสนิยมรูปแบบใหม่แต่อย่างใด เพราะในฐานะคนชอบเล่นเกมแล้ว ขอพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า “การนั่งดูคนอื่นเล่น” เป็นพฤติกรรมที่มีมาตั้งแต่นานนม
สมัยก่อนที่เทคโนโลยียังไม่แพร่สะพัดแบบยุคดิจิทัลตอนนี้ การครอบครองเครื่องเกมคอนโซลหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ถือว่ายากยิ่ง ทำให้เด็กๆ หรือวัยรุ่นต้องนัดรวมตัวกันที่บ้านใครสักคนหนึ่งเพื่อเล่นเกม และผลที่ปรากฏทุกครั้งคือ ใครที่เล่นได้สนุกเล่นได้เก่งเรียกเสียงฮา มักจะเป็นผู้ครองจอยเกมหรือคีย์บอร์ด นั่งเล่นไปยาวๆ โดยมีเพื่อนรายล้อม คอยแนะนำ นั่งลุ้น หรือส่งเสียงเชียร์
และถึงแม้เพื่อนคนนั้นจะใจดียื่นจอยให้แบ่งกันเล่น แต่สิ่งที่จักเกิดขึ้นเสมอๆ คือการปฏิเสธไม่เอาดีกว่า เพราะกลัวว่าเล่นไม่เก่งเท่า อายเขา หรือกลัวว่าตัวละครที่เราเล่นจะเดี้ยงซี้ม่องเท่ง ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ ซึ่งพฤติกรรมนี้ ก็ไม่ถูกจำกัดโดยอายุ หลายครั้งหลายหนเห็นรุ่นพี่ที่โตกว่า ยอมสละสิทธิเล่นด้วยตัวเอง ด้วยเหตุผลว่านั่งดูน้องหรือเพื่อนเล่นสนุกกว่ามันกว่า หากจะเปรียบเทียบ คงเสมือนกับการนั่งชมกีฬา ทำไมไม่ลงแข่งขันเสียเอง ทั้งที่กีฬาประเภทนั้นๆ ตัวเองก็เล่นเป็น
...
จึงอยากขอคลายความกังวลหลายๆคนที่เห็นลูกหลานไม่ยอมเล่น และเกรงไปถึงขั้นว่า จะขาดทักษะที่เหมาะสม เช่น การพัฒนาทางร่างกาย การแก้ปัญหาหรือปัญหาเฉพาะหน้า หรือฝึกความอดทน ซึ่งเป็นประโยชน์บางส่วนจากการเล่นเกม พร้อมย้ำว่าพฤติกรรมดูคนอื่นเล่นไม่ใช่เรื่องแปลก และเมื่อถึงเวลาที่อยากเล่น เขาจะเล่นเอง นอกจากนี้ การนั่งดูยูทูบคนอื่นเล่นเกม อาจมาจากสาเหตุเพียงแค่อยากรู้อยากเห็นว่าเกมนี้เป็นเช่นไร ไม่ได้อยากเล่นจริงๆ หรือเล่นไม่ผ่านแล้วต้องการหาคำตอบว่าจะแก้ปริศนาในเกมเช่นไรง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับคนเจเนอเรชันใหม่ คือเสียโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกความเป็นจริงที่นอกเหนือจากชั้นเรียน เพราะแม้ว่าจะคบหาพูดคุยกับเพื่อนบนโลกออนไลน์ แต่ก็น้อยครั้งหรอกที่จะได้พบปะ ทำกิจกรรมร่วมกันแบบตัวเป็นๆ อีกทั้งการติดต่อบนออนไลน์เป็นแบบไร้พรมแดน มีสิทธิที่คนหนึ่งอยู่อีกจังหวัด อีกคนหนึ่งอยู่ข้ามทวีป.
พจน์ พลวัต