ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 โดยกลุ่ม Rocket Internet จากเยอรมัน ความแปลกใหม่ในไอเดียของนักลงทุนกลุ่มนี้ คือการเลือกเปิดตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในนาม “ลาซาด้า” (Lazada) เฉพาะในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม
4 ปีถัดมา ณ พ.ศ.2559 Rocket Internet ถูกรางวัลแจ็กพอตใหญ่ เมื่อยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซค่ายจีนในนาม “อาลีบาบา” เล็งเห็นถึงศักยภาพในการบุกทะลวงเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยอมทุ่มเงินเป็นจำนวนรวม 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 64,000 ล้านบาท) เข้าซื้อกิจการของลาซาด้า แลกกับสัดส่วนถือหุ้น 83%
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับตัวรับภูมิทัศน์ใหม่ๆจากอาลีบาบา ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่รายล่าสุด ในฝั่งของประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารจากอเล็กซานดรอ บิสซินี เป็น เจมส์ ตง ซีอีโอป้ายแดงส่งตรงจากจีนแผ่นดินใหญ่
2 ปีหลังถูกอาลีบาบาเข้าซื้อกิจการ แพลตฟอร์มลาซาด้าคลาคล่ำไปด้วยสินค้าจากประเทศจีนที่มีมากขึ้นอย่างชัดเจนขณะเดียวกัน ก็มีการขยาย-แตกไลน์สินค้าและบริการเพิ่มขึ้น
...
โดยเมื่อเดือน ก.ย.2561 ลาซาด้าได้เปิดตัว LazMall (ลาซมอลล์) แพลตฟอร์มใหม่เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับนักช็อปให้เข้าถึงแบรนด์ต่างๆทั้งในและต่างประเทศได้อย่างมั่นใจ
ในงานโปรโมตแพลตฟอร์มใหม่ “LazMall Brands Future Forum” ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 จิน ยิง ประธานกรรมการลาซาด้า กรุ๊ป อธิบายว่า LazMall เป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาปวดหัวให้กับลูกค้า ซึ่งมักไม่มั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์
LazMall จึงการันตีสินค้าที่เป็นของแท้ 100% รับคืนภายใน 15 วัน รวมทั้งบริการส่งในวันถัดไป ขณะเดียวกัน ในมุมของแบรนด์หรือผู้ขายยังสามารถปรับเปลี่ยนหน้าร้านเพื่อสร้างประสบการณ์ช็อปที่แตกต่าง รวมทั้งการสื่อสารกับลูกค้าได้หลากหลายแบบ รวมไลฟ์สตรีมมิงด้วย เพื่อเรียกความสนใจจากนักช็อป
จิน ยิง บอกว่า การผนึกกำลังกับอาลีบาบา จะทำให้ลาซาด้าเติบโตอย่างแข็งแกร่งขึ้น ในฐานะแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งด้านเทคโนโลยีและฐานข้อมูล (Data) นอกจากระบบขนส่งสินค้า หรือโลจิสติกส์ ซึ่ง 80% ส่งมอบโดยระบบของลาซาด้าเอง ตลอดจนแพลตฟอร์มการชำระเงิน ซึ่งได้อาลีเพย์ (AliPay) คอยสนับสนุน
จากการเปิดตัวไปราว 6 เดือนเศษ ประกอบกับการจัดงาน Laz Super Brand Day ทั่วภูมิภาคพบว่า แบรนด์สามารถเข้าถึงนักช็อปหน้าใหม่ถึง 90% เพิ่มยอดผู้ติดตามแบรนด์มากขึ้น 3 เท่า ทำยอดขายได้มากขึ้น 80 เท่า โดย 63% เป็นนักช็อปหญิง ตอกย้ำอำนาจซื้อของแม่บ้าน จิน ยิง ยังกล่าวถึงกลยุทธ์ของลาซาด้าในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่เติบโตครบ 7 ปีบริบูรณ์ ภายใต้เป้าหมายสำคัญคือ “ลาซาด้าจะเด็กลง และเด็กลง”
เขาขยายความเพิ่มว่า ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังสดใส เยาว์วัยเช่นเดียวกับผู้ค้าในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันจะเป็นเจ้าของกิจการลาซาด้าจะทำให้ฝันของคนเหล่านั้นเป็นจริง ด้วยการนำเสนอแพลตฟอร์ม Super Solutions ที่ตอบโจทย์แบรนด์เอสเอ็มอีเหล่านั้นให้ได้ขายของในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง เข้าถึงลูกค้าในแบบที่ต้องการ.