เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วภายในช่วงเวลาไม่นาน ในขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีผู้ใช้งานทั่วไปยังเพิ่งได้ตื่นเต้นกับความเร็วในระดับ 3G ที่เหมือนกับเป็นการพลิกโฉมหน้าการส่งข้อมูลในรูปแบบ Data ผ่านโทรศัพท์มือถือไปอีกขั้น สู่การต่อยอดพัฒนาเป็น 4G ที่เร็วแรงขึ้นอีกระดับ และล่าสุดนี้การมาถึงของ 5G ก็กำลังจะกลายเป็นอีกขั้นของการนำเทคโนโลยีสัญญาณโทรศัพท์มือถือมาใช้ ซึ่งมันจะไม่ได้จำกัดที่การใช้งานกับโทรศัพท์อีกต่อไป และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแรงของ 5G เอไอเอสในฐานะผู้นำอันดับ 1 ด้านนวัตกรรมเครือข่ายและเทคโนโลยีของไทย จึงได้ผนึกกำลังกับการ์ทเนอร์ระดับโลก โนเกีย หัวเหว่ย และ แซดทีอี เปิดให้เข้าร่วมทดสอบประสิทธิภาพของเทคโนโลยี 5G เป็นรายแรกในไทย
นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวในงานครั้งนี้ว่า “หน้าที่หลักในฐานะ Digital Life Service Provider คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ดีที่สุดเพื่อประเทศ เราจึงไม่เคยหยุดทำงาน พร้อมนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมามอบให้คนไทยเสมอ นอกจากนี้อีกหน้าที่หลักที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการซึ่งมีคลื่นความถี่มากที่สุดคือ 120 MHz เราจะต้องนำทรัพยากรคลื่นความถี่มาสร้างมูลค่าและประโยชน์ให้แก่อุตสาหกรรมและประเทศไทยอย่างดีที่สุด หมายรวมถึง การศึกษา ค้นคว้า วิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างกรณี 5G ที่ต้องเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่างสม่ำเสมอ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า 5G คือโอกาสครั้งสำคัญที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมไปอีกขั้น”
“เหล่านี้จึงเป็นที่มาว่าในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เอไอเอสและโนเกีย จึงยื่นเรื่องขอทดสอบ 5G และได้รับอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์เพื่อดำเนินการสาธิต 5G จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2561 และได้ยื่นเรื่องขอดำเนินการสาธิต 5G ให้กับ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 โดยในวันนี้คณะกรรมการ กสทช. ได้อนุมัติให้เอไอเอสและโนเกียสามารถเปิดการสาธิต 5G บนคลื่นความถี่ย่าน 26.5-27.5 GHz ได้อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2561 ซึ่งเปิดให้คนไทย และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้สัมผัสประสบการณ์และใช้เทคโนโลยี 5G ครั้งแรกในเมืองไทย ในงาน “5G the First LIVE in Thailand by AIS” ณ AIS DC ขั้น 5 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม ทั้งนี้เป็นงานฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้เห็นประโยชน์ของ 5G ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในฐานะเทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคม โดยจะทยอยนำเสนอเทคโนโลยีจากพันธมิตรระดับโลกรายอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง”
ภายในงาน “5G the First LIVE in Thailand by AIS” เริ่มต้นด้วยความร่วมมือกับโนเกียผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีระดับโลก ที่นำการสาธิต 5G รูปแบบนวัตกรรมสุดล้ำ ครั้งแรกของเมืองไทย ประกอบด้วยโซนต่างๆ ได้แก่
1. 5G Super Speed
การแสดงศักยภาพที่สำคัญของเครือข่าย 5G เช่นความเร็วในการรับส่งสัญญาณ (Throughput) และ ความหน่วง (Latency)
2. 5G Ultra Low Latency – Cooperative Cloud Robot
การสาธิตประสิทธิภาพการตอบสนองที่รวดเร็วของเครือข่าย 5G โดยการใช้หุ่นยนต์ 3 ตัวในการหาจุดสมดุลที่ทำให้ลูกบอลอยู่กึ่งกลางกระดาน การสาธิตแสดงเวลาที่หุ่นยนต์ใช้ในการหาจุดสมดุลผ่านการสื่อสารระหว่างกันโดยใช้เครือข่าย 4G เปรียบเทียบกับ 5G
3. 5G for Industry 4.0
หุ่นยนต์จะมีบทบาทอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 การทำงานร่วมกันของเครื่องจักรจากหลายสายการผลิตต้องการการเชื่อมต่อไร้สายที่มีความหน่วงต่ำและความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งจะทำให้สายการผลิตทำงานได้เร็วขึ้น ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการสาธิตหุ่นยนต์ YuMi Dual-Arm Collaborative Robot จาก ABB ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย 5G
4. 5G Virtual Reality – Immersive Video
การสาธิตการดูวิดีโอที่แสดงสภาวะเสมือนจริง (Immersive Video) ผ่านเครือข่าย 5G ผู้ที่ใส่แว่นตา VR จะสามารถมองเห็นได้รอบด้าน 360 องศา การดูวิดีโอ VR ที่มีความคมชัด ต้องการ Bandwidth ที่สูงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการถ่ายทอดสดหรือ Live Streaming
5. 5G FIFA Virtual Reality
ทดลองความเร็วของเครือข่าย 5G ด้วยตัวคุณเองโดยการเตะลูกบอล Virtual Reality ที่จุดโทษผ่านเครือข่าย 5G
นอกจากนี้ นายวีรวัฒน์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความเชื่อมั่นว่า 5G จะช่วยยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพจากคุณสมบัติ 3 แกน ได้แก่
- ยกระดับความเร็วการใช้ดาต้า (Enhanced Mobile Broadband-EMBB) เน้น “ความเร็ว” (Speed)
- ขยายขีดความสามารถเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่ออุปกรณ์ (Massive machine Type Communications-mMTC) เน้นสนับสนุน IoT ที่จะถูกนำมาใช้อย่างมหาศาล
- เพิ่มคุณภาพเครือข่ายให้สามารถตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียรที่สุด (Ultra-Reliable and Low Latency Communications) เน้น ประสิทธิภาพความเร็วในการตอบสนองหรือ Low Latency ที่จะตอบโจทย์รูปแบบการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางการแพทย์ หรืออุตสาหกรรมยานยนต์อย่าง Self Driving Car อย่างมีประสิทธิภาพ
รากฐานของเครือข่ายในทั้ง 3 แกนนี้ ทางด้านเอไอเอสได้ทำการวางแผนและดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง อย่างในแกน Speed ได้เปิดตัว 4.5G ที่เร็วระดับกิกะบิท และเปิดตัว Massive MIMO 32T32R ครั้งแรกในโลก รวมถึงการเปิดให้บริการ NEXT G พร้อมผนึกกำลังพาร์ตเนอร์ผู้ผลิตชิปและสมาร์ทโฟน ให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์เร็วแรงระดับกิกะบิทครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในแกน IoT นอกจากการพัฒนาเครือข่ายทั้ง NB IoT และ EMTC แล้วยังเป็นรายแรกในไทยที่เปิดให้บริการ IoT เชิงพาณิชย์อีกด้วย ส่วนในแกนการตอบสนองหรือ Latency เอไอเอสได้เริ่มศึกษาและเป็นรายแรกที่เริ่มต้นปรับโครงสร้างเครือข่ายหลักที่กระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาค (AIS Core Network Architecture Ready for 5G) ให้สามารถสื่อสารตรงไปยังเซิร์ฟเวอร์บริการต่างๆ ได้ทันที โดยไม่ต้องย้อนกลับมาผ่านศูนย์กลางเครือข่ายในส่วนกลาง ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้อัตราการตอบสนองได้เร็วขึ้น เพราะค่า Latency ต่ำ ทำให้เมื่อประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ แล้วจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด
การทดสอบเทคโนโลยี 5G ในครั้งนี้คือหนึ่งในการเตรียมความพร้อมของเอไอเอส ที่จะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ และพร้อมนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน เพราะนี่ไม่ใช่แค่เพียงเทคโนโลยีสำหรับการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้เป็นแค่ 4G ที่เร็วขึ้นอย่างที่หลายคนคิด แต่มันคือเทคโนโลยีใหม่ สำหรับทุกภาคธุรกิจและทุกอุตสาหกรรมที่จะสามารถนำประโยชน์ของ 5G ไปใช้งานได้ในอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะมาถึง
งาน “5G The First LIVE in Thailand by AIS” จะจัดแสดงตั้งแต่ 22 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2561 ณ AIS DC ชั้น 5 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม (ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย)