รัฐบาลปาปัวนิวกินีประกาศห้ามใช้เฟซบุ๊กเป็นเวลา 1 เดือน โดยจะเข้าไปตรวจสอบบัญชีผู้ใช้ คัดกรองบัญชีแปลกปลอม หลอกลวง โพสต์ภาพอนาจาร ปล่อยข่าวลวง ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
แม้จะมีประชากรเพียงแค่ 10% ที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต แต่รัฐบาลปาปัวนิวกินี ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าการกำกับดูแลกิจกรรมออนไลน์มีความเข้มข้นมากเพียงไร
แซม เบซิล รัฐมนตรีด้านการสื่อสาร ของปาปัวนิวกินี กล่าวว่า จะมีการจัดระเบียบผู้ใช้เฟซบุ๊กใหม่ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กที่โพสต์ภาพโป๊ เปลือย รวมทั้งให้ข้อมูล ข่าวที่เป็นเท็จ จะต้องถูกสืบทราบตัวตนที่แท้จริง
เวลา 1 เดือนของการแบน จะถูกใช้ในการตรวจสอบ วิเคราะห์ ว่าประชาชนปาปัวนิวกินีใช้เฟซบุ๊กเพื่อทำอะไรบ้าง และบริการใดของเฟซบุ๊ก ที่ละเมิดต่อกฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2559
“สิ่งที่รัฐบาลจะตรวจสอบ ได้แก่ ข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ที่ใช้บัญชีปลอม ปิดบังตัวตน ผู้ใช้งานที่ดาวน์โหลดภาพโป๊ อนาจาร ตลอดจนผู้ใช้งานที่โพสต์ข้อมูลบิดเบือน จงใจหลอกลวงและชี้นำสังคมไปในทางที่ผิด”
ทั้งนี้ หลังจากข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหรัฐอเมริกา หลุดไปอยู่ในมือบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการเมืองที่ชื่อเคมบริดจ์ อนาลีติกา (Cambridge Analytica) กว่า 87 ล้านบัญชี เฟซบุ๊กก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากรัฐบาลและผู้ใช้ทั่วโลก เกี่ยวกับการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
นอกจากนั้น เฟซบุ๊กยังถูกเรียกร้องให้รับผิดชอบต่อข้อมูลเท็จ ข่าวหลอกลวง ที่อาจชี้นำสังคมไปในทางที่ผิด และสร้างความเสียหายใหญ่หลวงภายหลัง
รัฐบาลปาปัวนิวกินียังกำลังมองถึงความเป็นไปได้ ในการสร้างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของประเทศขึ้น หวังลดการพึ่งพาเฟซบุ๊ก
...
แพลตฟอร์มของรัฐบาลจะสนับสนุนให้ผู้ใช้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง โดยอาจขอให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันภายในประเทศ ช่วยกันสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างสร้างสรรค์ และเหมาะสมกับบริบทของประเทศ.