ไทยรัฐออนไลน์ ขอแสดงความเสียใจให้กับการจากไปของนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ชื่อดัง "สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง" ในวัย 76 ปี
สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง ขึ้นชื่อว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีทฤษฎีฟิสิกส์ที่แปลกและแหวกกฎมากที่สุด และผลการคำนวณเหล่านั้นก็ได้รับการยืนยันว่าเขาคิดถูกทุกประการ ...บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ ฮอว์กกิ้ง สร้างสรรค์ให้กับโลกยุคปัจจุบันมากมายเพียงไร ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องต่อสู้กับโรค Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS) ซึ่งเป็นอาการผิดปกติของระบบประสาทโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ เสมือนคนกึ่งอัมพาต
และในเช้าของวันพุธที่ 14 มีนาคม 2561 โลกได้เสียอัจฉริยะผู้ที่ได้รับฉายาว่าเป็นไอน์สไตน์ที่ยังมีชีวิตอยู่ไปเสียแล้ว
ไทยรัฐออนไลน์ จึงอยากจะพาท่านไปทำความรู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ให้มากขึ้น...
1. สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง เป็นลูกคนโตของ Frank และ Isobel Hawking เขาเกิดวันที่ 8 มกราคม 1942 ที่เมือง Oxford ประเทศอังกฤษ และที่น่าประหลาดใจคือในปีที่เขาเกิด คือปีครบรอบ 300 ปีของการจากไปของ กาลิเลโอ นักฟิสิกส์ชื่อดังของโลก
...
2. ในวัยเด็ก ถึงแม้ฮอว์กกิ้งจะมีแววอัจฉริยะ แต่เขากลับเป็นอัจฉริยะนอกห้องเรียน เนื่องจากเขามักจะสอบได้ลำดับท้ายๆ ของห้องอยู่เสมอ แต่ในที่สุดเมื่อเขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่ Oxford ตอนอายุ 17 ปี เขาก็ได้ทุ่มเทความสนใจไปในด้านฟิสิกส์ โดยเฉพาะในเรื่องของจักรวาลวิทยา (จริงๆ ฮอว์กกิ้งชอบคณิตศาสตร์มากกว่า แต่ที่ Oxford ไม่เปิดสาขานี้)
3. สุดท้าย เขาจบการศึกษาระดับเกียรตินิยม ในสาขา Natural Science หลังจากนั้นก็เข้าศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Cambridge ในสาขาจักรวาลวิทยา
4. ในช่วงอายุ 21 ปี ขณะศึกษาอยู่ที่ Oxford เขาอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้นของโรค Amyotrophic Lateral Sclerosis (กล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดหนึ่ง) และแพทย์ยังบอกกับเขาว่า เขาอาจมีชีวิตอยู่ได้แค่เพียง 2 ปีเท่านั้น แต่...นั่นคือจุดเปลี่ยนของชีวิต ที่เขาคิดอยากศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องของจักรวาลวิทยา
5. ในช่วงระยะเริ่มต้นของโรคฮอว์กกิ้งได้พบรักกับ Jane Wilde และแต่งงานกันในที่สุด (พวกเขามีลูกด้วยกัน 3 คน) แต่ภายหลังหย่ากัน
6. ฮอว์กกิ้ง สร้างปรากฏการณ์ให้ทั่วโลกตะลึง ด้วยการค้นพบ 'ทฤษฎีหลุมดำ' และการเกิดของอวกาศ จนกลายเป็นที่ถกเถียงกันของนักวิทยาศาสตร์มาหลายทศวรรษ
7. เขาเชื่อว่า "การเดินทางในอวกาศของมนุษย์ส่วนใหญ่ ดูท่าแล้วไม่มีหวังจะกลับมาถึงจักรวาลของตนเองได้ แต่เขาเชื่อว่า มันจะต้องมีรูเลี้ยวเลี่ยงหลบไปที่อื่นได้ ที่จริงหลุมดำนั้น ไม่ได้ดำจริงๆ เหมือนอย่างที่คนคิดเชื่อกัน และอาจจะเป็นทางลัดทางหนึ่งไปออกสู่จักรวาล การที่มีหลุมดำอยู่ ส่อว่าอาจจะเป็นทางลัดเดินทางไปยังที่อื่นได้ หากแต่มันต้องใหญ่โตพอสมควร และอาจจะหมุนรอบตัวเอง"
8. การเผยแพร่ผลวิจัยนั้น สร้างชื่อเสียงให้ฮอว์กกิ้งเป็นอย่างมาก เขาได้รับรางวัล Albert Einstein Award และได้รับเกียรติอยู่ในฐานะ fellow ของราชสมาคมแห่งลอนดอน หลังจากนั้นถึงแม้สภาพร่างกายจะแย่ลงเรื่อยๆ แต่เขายังไม่หยุดค้นคว้า และตีพิมพ์ผลงานทางวิทยาศาสตร์มากมายเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับจักรวาลวิทยา รวมถึงทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมด้วย
9. ชื่อของฮอว์กกิ้งถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อเขานำเสนอทฤษฎี 'พระเจ้าไม่ใช่ผู้สร้างโลก' เพราะนี่คือการท้าทายความคิดของ Sir Isaac Newton ที่ว่าจักรวาลนั้นถูกออกแบบโดยพระเจ้า
10. ในปี 2015 มีการจัดทำหนังชีวประวัติของ สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง ในชื่อเรื่อง The Theory of Everything หรือทฤษฎีแห่งสรรพสิ่ง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของเขาในวัยหนุ่ม กับหญิงสาวคู่รักที่ฝ่าฟันอุปสรรคและโรคร้ายมาด้วยกัน ซึ่งขึ้นแท่นเป็นภาพยนตร์เข้าชิงรางวัลออสการ์ด้วย
บัดนี้ ไทยรัฐออนไลน์ ขอแสดงความเสียใจ ที่โลกได้สูญเสียบุคคลสำคัญในด้านจักรวาลวิทยา นักฟิสิกส์ชื่อดัง ในวัย 76 ปี ที่จากไปอย่างสงบในช่วงเช้าของวันที่ 14 มีนาคม ที่บ้านของเขาอย่างสงบ
...
ที่มา: hawking