ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับ เครื่องบินเอฟ-16 เอ และชีวิตของนักบิน ทำให้ต้องย้อนกลับไปดู ย้ำเตือนว่าอุบัติเหตุในการบินนั้นเกิดได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากคน เครื่องจักร หรือธรรมชาติที่เลวร้าย...


เมื่อเวลา 11.00 น.ของวันที่ 18 ต.ค.2553 ข่าวเครื่องบินเอฟ 16 เอ ของกองทัพอากาศไทย ประสบอุบัติเหตุตกที่ อ.บ้านตาก จ.ตาก กลายเป็นเรื่องที่ช็อกความรู้สึกของบรรดาผู้ที่ชื่นชอบการบิน และสนใจเครื่องบินรบ โดยเฉพาะเครื่องบินขับไล่ไอพ่น  เป็นที่ทราบดีว่า เครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 เอ หรือ บข.19 ถือเป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่นทุกกาลอากาศ ที่ทรงสมรรถนะที่สุดของกองทัพอากาศไทย เด็กชายไทยหลายคนใฝ่ฝันที่จะได้ นั่งบังคับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงรุ่นนี้  เพราะน้อยคนมากที่จะผ่านเกณฑ์การคัดเลือก เพื่อก้าวมาเป็นนักบินเอฟ -16 ของกองทัพอากาศไทย กว่าจะได้นักบิน 1 คน ต้องใช้เงินภาษีของราษฎรไปไม่ใช่น้อย เพื่อให้ได้นักบินพร้อมรบ ที่จะมาปฏิบัติงาน กับเครื่องบินรุ่นนี้

ขณะที่ผู้ที่มาปฏิบัติงานกับเอฟ-16 ไม่ว่าจะเป็นช่างเครื่อง เจ้าหน้าที่สรรพาวุธ ต่างก็ล้วนเป็นคนที่มีคัดมาแล้วว่า ดีที่สุด พร้อมที่สุด ทำให้เอฟ 16 ของกองทัพอากาศไทยได้รับรางวัลจากบริษัทผู้สร้าง คือ ล็อกฮีด มาร์ติน ในฐานะที่เป็นผู้ใช้งานที่ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุเลยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่เข้าประจำการ  ทำให้ ทอ.ไทย กลายเป็นกองทัพอากาศประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่มีเอฟ-16 ประจำการ และยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ ถึงขั้นจำหน่าย ยังคงอยู่ครบทั้ง 59 ลำ

แต่แล้วในที่สุดการสูญเสียเครื่องบินเอฟ-16  และนักบินมือดีของ ทอ.ไทย ก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อเครื่องบินขับไล่ เอฟ 16 สังกัดฝูงบิน 403 กองบิน 4 ตาคลี จ.นครสวรรค์ ขึ้นบิน 4 ลำไปปฏิบัติภารกิจที่กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ ประสบอุบัติเหตุตกในพื้นที่ จ.ตาก 1 ลำ โดย  ร.อ.ฐานิกร เหลือรุ่งวารี เสียชีวิต แน่นอนนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ทอ.ไทยเสียนักบินฝีมือดี ไป ยังมีนักบินรุ่นพี่ อีกหลายนายที่พลีชีพ กับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง อย่าง เอฟ-5 และ อัลฟ่าเจ็ต อันเป็นเครื่องบินที่ยังอยู่ในประจำการของ ทอ.ไทย

...


ดังนั้น ไทยรัฐออนไลน์ ขอรวบรวมวีรกรรมของนักบินผู้กล้า และการสูญเสียเครื่องบินขับไล่ไอพ่น ของ ทอ.ไทย ที่ยังคงมีประจำการอยู่ มาให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน

 

24 พ.ค.2524 เอฟ-5เอฟ หมายเลข 10241 ฝูงบิน 102 กองบิน 1 นครราชสีมา ประสบอุบัติเหตุตก ห่างจาก สนามบินกองบิน 1 ประมาณ 3 กม.นักบินเสียชีวิต  2 คน

28 ต.ค.2528 เอฟ-5เอฟ หมายเลข 10242 ฝูงบิน 102 กองบิน 1 นครราชสีมา ประสบอุบัติเหตุชนขณะร่อนลงที่สนามบินดอนเมือง ฐานล้อทั้ง 3 ทรุด เครื่องไถลเข้าไปในสนามกอล์ฟกานตรัตน์ นักบินปลอดภัย

4 มี.ค.2530 เอฟ-5อี หมายเลข 40322 ฝูงบิน 403 กองบิน 4 ตาคลี นครสวรรค์ ถูกทหารเวียดนามเฮงสัมรินยิงจรวดแซม7 เข้าที่เครื่องยนต์ขวา นักบินประคองเครื่องกลับมาลงที่สนามบินอุบลราชธานีได้อย่างปลอดภัย

4 ก.พ.2531 เอฟ-5อี หมายเลข 40342 ฝูงบิน 403 กองบิน 4 ตาคลี นครสวรรค์ ถูกทหารลาวยิงตกด้วยจรวดแซม7 ในสมรภูมิร่มเกล้า นักบินสละเครื่อง และได้รับการช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัย

15 ส.ค.2534 เอฟ-5อี หมายเลข 23116 ฝูงบิน 231 กองบิน 23 อุดรธานี ขณะวิ่งขึ้นจากสนามบินอุดรฯ เพื่อฝึกบินทางยุทธวิธี เกิดปะทะกับกระแสเจ็ตจากเครื่องบินลำหน้า ขณะที่วิ่งขึ้นตามกัน ทำให้เซออกนอกทางวิ่ง พุ่งเข้าป่าหญ้าข้างทาง ทำให้ฐานล้อหลังยุบ ปีกทะลุเป็นรู เสียหายถึงขั้นจำหน่าย

7 ต.ค.2536 เอฟ-5อี หมายเลข 71114 ฝูงบิน 711 กองบิน 71 สุราษฎร์ธานี ประสบอุบัติเหตุตกในอ่าวไทย เครื่องบินกระแทกพื้นน้ำ นักบินเสียชีวิต


18 ส.ค.2537 เอฟ-5อี หมายเลข 21134 ฝูงบิน 211 กองบิน 21 อุบลราชธานี ประสบอุบัติเหตุ ขณะร่อนลงเกิดฝนตกหนักมีน้ำเจิ่งนองบนทางวิ่ง ทำให้เครื่องเสียการทรงตัวขณะสัมผัสพื้น ฐานล้อหลักยุบ เครื่องบินได้รับความเสียหาย

8 ม.ค.2539 เอฟ-5อี หมายเลข 71142 ฝูงบิน 711 กองบิน 71 สุราษฎร์ธานี ประสบอุบัติเหตุตกในอ่าวไทย ขณะที่ฝึกบินจากกองบิน 71 ไปยังกองบิน 1 นครราชสีมา เครื่องยนต์ขัดข้อง นักบินดีดตัวออกมาได้ แต่เสียชีวิตเนื่องจากสายร่มพันตัวทำให้จมน้ำทะเล

31 ธ.ค.2539 เอฟ-5อี หมายเลข 71113 ฝูงบิน 711 กองบิน 71 สุราษฎร์ธานี เครื่องยนต์ขัดข้อง ขณะฝึกบิน เครื่องตกที่ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี นักบินดีดตัวออกมาได้ทัน และปลอดภัย

7 พ.ค.2545 เครื่องบินโจมตีอัลฟาเจ็ต หมายเลข 23133 ประจำการที่ฝูงบิน 231 กองบิน 23 อุดรธานี ประสบอุบัติเหตุตกที่บ้านทุ่งโปร่ง ต.กุดจิก อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู เนื่องจากนักบินหลงฟ้า ทำให้นักบินเสียชีวิต

9 เม.ย.2546 เอฟ-5 เอฟ หมายเลข 21105 ฝูงบิน 211 กองบิน 21 อุบลราชธานี ประสบอุบัติเหตุตกขณะบินทดสอบประเมินค่า บริเวณใกล้กับหมู่บ้านดงสวรรค์ อ.ไทยเจริญ จ.ยโสธร นักบินที่ 1 เสียชีวิต ส่วนนักบินที่ 2 ดีดตัวออกมาได้แต่ได้รับบาดเจ็บ

16 ก.พ.2548 เอฟ-5อี หมายเลข 70115 ฝูงบิน 701 กองบิน 7 สุราษฎร์ธานี ประสบอุบัติเหตุตกเนื่องจากเครื่องเสียการควบคุม ขณะนำเครื่องขึ้นบินเพื่อเตรียมความพร้อม ตามแผนเพื่อความมั่นคงของประเทศ บริเวณโรงเรียนบ้านห้วยทรายขาว อ.ละแม จ.ชุมพร นักบินสามารถสละเครื่องได้ แต่เนื่องจากอยู่ในระดับต่ำร่มจึงกางไม่สมบูรณ์ ร่างนักบินกระแทกพื้นเสียชีวิต

8 พ.ย. 2549 เครื่องบิน ลาดตระเวนตรวจการณ์แบบ เลียร์เจ็ต LEARJET 35A สังกัดฝูงบิน 402 กองบิน 4 ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ประสบอุบัติเหตุตกขณะวิ่งขึ้นจากกองบิน 4 เนื่องจากเจอกระแสลมแรง ทำให้เครื่องตกลงกระแทกพื้นทางขับแล้วพุ่งต่อไปชนเข้ากับโรงเก็บเครื่องบิน ทำให้นักบิน และลูกเรือเสียชีวิตรวม  7 คน

23 ธ.ค.2552 เอฟ-5อี หมายเลข 21118 ฝูงบิน 211 กองบิน 21 อุบลราชธานี ประสบอุบัติเหตุตก ที่บ้านแก้งเค็ง ต.แก้งเค็ง อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี ขณะที่ฝึกบินขับไล่กับเครื่อง เอฟ-5 อี อีกลำ ทำให้เครื่องกระแทกพื้นระเบิด นักบินเสียชีวิต

...

 

และเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับเครื่องบินของกองทัพอากาศ ก็มักจะถูกค่อนแคะโดยผู้คนทั่วไปว่า สาเหตุที่เครื่องตกเป็นเพราะ เครื่องบินของ ทอ.ไทยเก่า ล้าสมัย จึงทำให้มีเหตุเครื่องขัดข้องบ่อย ขณะที่อีกประเด็น คือ มักถามว่า ทำไมนักบินไม่ดีดตัวออกมา อย่างที่ทราบดีว่า เครื่องบินขับไล่ไอพ่นแต่ละลำที่เข้าประจำการ มีราคาแพง เชื่อว่าไม่มีนักบินคนไหนจะสละเครื่องง่ายๆ หากไม่สุดวิสัย ถ้าประคองเครื่องกลับได้ ก็ประคองกลับ ส่วนถ้าสุดวิสัยก็ดีดตัวออกมาได้ แต่หลังจากนั้นก็ต้องถูกตั้ง คณะกรรมการสอบสวน ที่เป็นขั้นตอนปฏิบัติทั่วไประดับสากล

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมายึดถึงหลักว่าสุดวิสัยจริงๆ จึงสละเครื่อง ก็อาจจะเหลือเวลาและความสูงไม่มากพอที่จะให้ร่มกางได้เต็มที่ เพราะที่นั่งดีดตัวที่สามารถดีดได้ทุกความสูง และความเร็วมีเพียงของเอฟ-16 เท่านั้นที่ติดตั้งเก้าอี้แบบซีโร่-ซีโร่ ส่วนเอฟ-5 จะต้องมีความเร็ว และความสูงที่พอสมควร เพื่อเก้าอี้ดีดตัวทำงานครบวงจร เพื่อให้ร่มชูชีพกางเต็มที่ ดังนั้นจะเห็นว่าอุบัติเหตุหลายครั้งแม้นักบินดีดตัวออกมา แต่เมื่อร่มชูชีพกางไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกระแทกพื้นเสียชีวิต

...

 

และเมื่อมาพิจารณาเรื่องอายุของเครื่องบิน แม้ว่าเอฟ-16 เอ ที่ตกไปนั้นมีอยู่การใช้งานมาตั้งแต่ปี 1994 หรือ 16 ปี นับว่าอายุน้อยมากเมื่อเทียบกับ เอฟ-16 ของฝูง 103 ที่ประจำการอยู่ที่โคราชที่มีอายุมากกว่า 20 ปี อีกทั้งเอฟ-16 เอ ของ ทอ.ไทยก็เพิ่งผ่านการอัพเกรดในโครงการฝูงบิน 403 ตามที่ มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้ปรับปรุงโครงสร้างตามโครงการ ฟอลคอนอัพ ที่เป็นการปรับปรุงโครงสร้าง เพื่อยืดอายุการใช้งาน และฟอลคอนสตาร์บางรายการ และการปรับปรุง MLU (Mid Life Update) และ Liteing Podเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้เทียบเท่าเครื่องบินเอฟ-16  ซี ที่ประจำการในประเทศกลุ่มนาโต ทำให้ยังมีอายุการใช้งานอีกนานหลายสิบปี ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องโครงสร้างล้า หรือ เครื่องยนต์ขัดข้องได้ง่ายๆ

อีกสาเหตุที่ทำให้ต้องสูญเสียนักบินไปหลายนาย คือ ทัศนวิสัยที่เลวร้าย หรือ การที่บินเข้าสภาพอากาศปิด โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ที่มีภูเขาสูง หรือ เทือกเขา อาจเจอกับเมฆหมอก หรือ พายุฝน ลม กระโชกแรง ที่อาจบดบังการมองเห็น เป็นเหตุให้เครื่องบินชนภูเขาได้เช่นกัน และเมื่อยิ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ ทำให้เวลาในการแก้ไขท่าทางการบินเหลือน้อย จนอาจจะสายเกินไป ที่จะดึงเครื่องขึ้นเพื่อหลบภูเขา

ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ หวังว่าความสูญเสียครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับฝูงบินเอฟ-16 ของกองทัพอากาศไทย เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องร้ายๆ ลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือ การสูญเสียจากภารกิจภาคสนาม ทั้งนี้ขอให้ดวงวิญญาณของเหล่านักบินผู้กล้าหาญที่ล่วงลับไป จงไปสู่สุคติ รวมทั้งขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ "ผู้กองเบิร์ด" ร.อ.ฐานิกร เหลือรุ่งวารี นักบินเอฟ-16 ผู้ล่วงลับ มา ณ ที่นี้ ด้วย

ข้อมูลอ้างอิง

นิตยสาร TOPGUN ฉบับที่ 129 ครบรอบ 30 ปี เครื่องบินขับไล่แบบที่ 18 ข/ค F-5 E/F

...

เว็บไซต์ http://www.wingsofsiam.pantown.com โดย ท้าวทองไหล

กองทัพอากาศไทย.