ส.ว.สรรหายื่นกระทู้ด่วนถาม รมว.ICT ชะลอ3จีทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจ /ส่วน“จุติ” รับ 3จี ชะงักกระตุกเศรษฐกิจยันเดินหน้ารวบฮัทช์อัพเดท 2จี...

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 ต.ค.  ที่รัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน พิจารณากระทู้ถามด่วนของ นายอนันต์ วรธิติพงษ์ ส.ว.สรรหา ถึงกรณีการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการไม่ประมูล 3จี ว่า การชะลอการประมูลใบอนุญาต (ไลเซนส์) 3 จี ตามคำสั่งของศาลปกครองนั้น คาดว่าจะทำให้การแข่งขันในเทคโนโลยี 3 จี ล่าช้าออกไปอีกประมาณ 2 ปี ตนยังมองว่าประเทศยังได้รับผลกระทบอีก 5 ด้าน คือ 1. ประเทศไทยสูญเสียโอกาสพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้เท่าเทียมเพื่อนบ้าน 2. ทำให้ประเทศไทยขาดปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ 3. ขาดปัจจัยการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4. คนไทยด้อยโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในด้านเทคโนโลยี การติดต่อไร้สาย และ 5. ทำให้คนไทยไม่ได้รับความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต

ปัญหาการชะลอการประมูล 3 จี เป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างนักเรียนในเมืองและในชนบท เพราะไม่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่มีผู้ใช้ระบบไร้สาย 6 ล้านรายเป็นสปีดต่ำ เพิ่งทราบข่าวว่า กสท เลิกระบบซีดีเอ็มเอแล้ว ดังนั้นถ้าไม่มีระบบไร้สายก็ไม่มีทางที่โรงเรียนในชนบทจะเข้าถึงได้ การพัฒนาระบบ 3จี อุปกรณ์ที่ซื้อมาใช้หรือขยายถึงโรงเรียนรองรับที่ 200 เมกกะเฮิร์ตซ 3จี เป็นการขยายโอกาสให้คนชนบทเข้าสู่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

ขณะที่ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ชี้แจงว่า  การชะลอการประมูล 3จี ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยล้าหลัง เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีไร้สายของเอกชนและรัฐวิสาหกิจรองรับอยู่แล้ว เช่น ดาวเทียมไอพีสตาร์  ซึ่งรัฐบาลตั้งใจให้การให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน ภายในสิ้นปีนี้ ทางบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) เตรียมขยายเครือข่ายให้บริการอินเทอร์เน็ต 2 เมกกะบิต ในอัตรา 199 บาทแก่ประชาชน ประเทศไทยมีเทคโนโลยี 2จี คือ ระบบเสียงอยู่แล้ว ขณะที่ประเทศไทยมีมือถือที่ดูทีวีได้มาประมาณ 2 ปีแล้ว เทคโนโลยี 3จี ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักของการพัฒนาระบบเทคโนโลยี แต่ขึ้นอยู่กับการปรับใช้กฎหมาย รวมถึงบุคลากรมากกว่า แม้การชะลอประมูล 3จี จะกระทบต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง แต่รัฐบาลก็พยายามหาช่องทางเพื่อให้การขยายโครงข่ายการให้บริการอื่นๆ มาทดแทน

นายจุติกล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ให้ 5 หน่วยงานคือ บริษัทดีแทคฯ บริษัทเอไอเอสฯ บริษัททรูฯ ร่วมกับบริษัททีโอทีฯ และบริษัท กสท พิจารณาถึงเรื่องการลงนามทำสัญญาร่วมกัน เพื่อพัฒนาความเร็วของอินเทอร์เน็ต รวมถึงลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน การที่ กสท เลิกใช้ซีดีเอ็มเอยืนยันว่าไม่มีความต้องการยกเลิกใช้ระบบดังกล่าว ขณะนี้จะซื้อเครือข่ายฮัทช์ ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติวงเงินที่ 7.5 พันล้านบาท หากได้จะเพิ่มการบริการไร้สายได้ผ่านไอพีสตาร์ดาวเทียม ส่วนการทำระบบ 3จี ในโรงเรียนนั้น ยอมรับดาวเทียมที่มีในโรงเรียนไม่สามารถรองรับการใช้งานที่พร้อมกันได้ จำเป็นต้องใช้ไวแมกซ์ไปก่อน

"วันนี้ถึงจะมีสุญญากาศแต่รัฐบาลก็พยายามทำดีที่สุด ไม่มีเหตุผลใดไปชะลอ เราต้องการทำเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง" นายจุติ กล่าว.

...