เฟซบุ๊กยืดอกยอมรับว่า การใช้เฟซบุ๊กในบางกรณี อาจส่งผลเสียต่อผู้ใช้ ทำให้เสียอารมณ์ไปทั้งวัน ขณะเดียวกัน หากใช้ให้ถูกที่ถูกทาง จะช่วยสร้างความมั่นใจ เสริมทักษะในการเข้าสังคม ใช้ชีวิต

เมื่อสัปดาห์ก่อน เฟซบุ๊กออกมายอมรับว่า การใช้งานเฟซบุ๊กอาจส่งผลเสียต่อผู้ใช้ หลังจากที่ถูกอดีตผู้บริหาร Chamath Palihapitiya วิพากษ์ถึงโซเชียลมีเดีย โดยยกตัวอย่างเฟซบุ๊กว่าได้เริ่มทำลายล้างโครงสร้างทางสังคมและจะทำให้สังคมแตกเป็นเสี่ยงๆ

ทำให้ผู้อำนวยการด้านการวิจัยของเฟซบุ๊ก David Ginsberg ต้องรีบทำการวิจัยศึกษาผลดี ผลเสียอย่างละเอียด นำไปสู่การยอมรับว่า เฟซบุ๊กอาจส่งผลกระทบทางลบต่ออารมณ์ของผู้ใช้

งานวิจัยดังกล่าว ทำขึ้นโดยการสุ่มสำรวจพฤติกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยมิชิแกน ผลปรากฏว่า นักศึกษาซึ่งถูกกำหนดให้เข้าไปอ่านข้อความบนเฟซบุ๊กเป็นเวลา 10 นาที มีอารมณ์ที่ขุ่นมัวไปตลอดทั้งวัน เมื่อเทียบกับนักศึกษากลุ่มที่ถูกกำหนดให้เข้าไปพูดคุยเฉพาะกับเพื่อนบนเฟซบุ๊ก

มหาวิทยาลัยมิชิแกนและมหาวิทยาลัยเยล (Yale) ซึ่งทำการวิจัยร่วมกัน ยังค้นพบด้วยว่า คนใช้เฟซบุ๊กที่กดเข้าไปอ่านลิงก์ต่างๆวันละ 4 ครั้งขึ้นไป และกดไลค์โพสต์เกิน 2 ครั้งขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพจิตที่แย่กว่าคนปกติ

ทีมวิจัยชี้ชัดให้เห็นว่า การเข้าเฟซบุ๊กเพื่อไล่ดูสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น คลิกโพสต์ที่ปรากฏให้เห็น อาจทำให้ผู้ใช้มีอารมณ์ที่ขุ่นมัวหลังจากนั้น

เฟซบุ๊กยังได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลอนเพิ่มเติม เพื่อค้นพบว่าการใช้เฟซบุ๊กก็มีแง่มุมที่ดีๆเหมือนกัน โดยคนที่ได้รับและส่งข้อความ ความคิดเห็น หรือไทม์ไลน์มากกว่า มีแนวโน้มที่จะมีพัฒนาการด้านการเข้าสังคมที่ดีขึ้น ลดความรู้สึกหดหู่และโดดเดี่ยวลง

ขณะที่การใช้เวลาประมาณ 5 นาที ในการสำรวจ ตรวจตราโปรไฟล์เฟซบุ๊กของตัวเอง จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและการเรียนรู้ตน มากกว่าคนที่ชอบเข้าไปดู-ส่องโปรไฟล์ของคนอื่น

...

เฟซบุ๊กอธิบายว่า คนที่ใช้เฟซบุ๊กในการติดต่อ สื่อสาร มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงและผู้อื่น มีแนวโน้มที่จะได้ฝึกฝนพัฒนาการใช้ชีวิตในสังคม มากกว่าคนที่เข้าเฟซบุ๊กเพื่อส่องดูสิ่งต่างๆ เรื่องราว หรือโพสต์ของผู้อื่นที่อาจทำให้เกิดอารมณ์ทางลบ

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กจะนำผลวิจัยดังกล่าว ไปต่อยอดเพื่อยกระดับบริการให้ตอบโจทย์และเอื้อประโยชน์ต่อผู้ใช้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเชิงของการสร้างเสริมกิจกรรมทางสังคมในทางสร้างสรรค์.