หัวเว่ย ถือได้ว่าเป็นแบรนด์มือถือจากจีนที่มีพัฒนา การอย่างเข้มข้น จนสามารถยกระดับขึ้นมาเทียบชื่อชั้นกับเจ้าตลาดอย่างไอโฟนและซัมซุงได้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ทั้งที่จริงๆแล้ว หัวเว่ย เทคโนโลยี ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตโครงข่ายโทรคมนาคม ก่อนที่จะหันมาผลิตมือถือในนามหัวเว่ย และนำออกขายตีตลาดทั่วโลก

หัวเว่ยซึ่งมีซีอีโอ 3 คน ผลัดกันบริหารงานตามวาระที่กำหนด และยังเป็นบริษัทที่ไม่มีนโยบายกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เลือกที่จะแบ่งหุ้นให้กับพนักงาน เพื่อแชร์ความเป็นเจ้าของ สามารถทำอัตราเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2530 ที่เริ่มก่อตั้งบริษัทจนกลายเป็นแบรนด์จีนแบรนด์แรกที่ก้าวเข้าสู่ทำเนียบ 100 แบรนด์ที่ทรงอิทธิพลของโลก และล่าสุดยังอยู่ในอันดับที่ 83 ของทำเนียบ 500 บริษัทชั้นนำทั่วโลกหรือ Global Fortune 500 ด้วย

เดือนที่ผ่านมา หัวเว่ยเพิ่งเปิดตัวมือถือแฟลกชิพตัวใหม่ Mate 10 Pro ประกาศว่าเป็นมือถือรุ่นแรกของโลกที่ใช้ชิป Kirin 970 ซึ่งมีหน่วยประมวลผลปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) บรรจุอยู่

...

1-2 ปีมานี้ เทรนด์เทคโนโลยีโลกกำลังมุ่งหน้าไปสู่การพัฒนา AI ภายใต้ความเชื่อที่ว่า มหาอำนาจของโลกในยุคใหม่จะต้องเป็นผู้นำด้าน AI เนื่องด้วยความฉลาดของมัน

เมื่อ AI ถูกนำมาบรรจุไว้ในโทรศัพท์มือถือ มันจึงเปลี่ยนสภาพมือถือให้กลายเป็นอุปกรณ์ที่สามารถเห็น ได้ยิน และเรียนรู้ที่จะทำงานเพื่อตอบสนองเจ้าของให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ฟิลิกซ์ ชาง รองประธานฝ่ายวิศวกรรมด้านซอฟต์แวร์ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสิเนส กรุ๊ป บอกว่า AI จะช่วยทำให้มือถือสามารถมองเห็น ได้ยิน และเรียนรู้ที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ ก่อนที่จะมีการกดปุ่มใช้งานด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อยกกล้องหน้าขึ้นมาระดับเดียวกับใบหน้า นั่นหมายถึงความต้องการถ่ายเซลฟี่ มันจะสั่งการให้ชัตเตอร์ทำงานทันที โดยที่ไม่ต้องเสียแรงกด

หรือในกรณีการถ่ายภาพทั่วไป AI ซึ่งจดจำภาพได้ถึงนาทีละ 2,000 ภาพ จะทำให้กล้องเฉลียวฉลาดขนาดที่สามารถแยกแยะได้ว่ามันกำลังถ่ายภาพอะไรอยู่ เสมือนมีนัยน์ตา และปรับแสง สี พารามิเตอร์ให้เข้ากับวัตถุนั้นๆ เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม สมจริงที่สุด

AI ยังช่วยในเรื่องของความปลอดภัยในข้อมูลส่วนตัว ช่วยผู้ใช้ประเมินลำดับความลับของข้อมูล อันไหนลับมาก ลับน้อย ควรใช้รหัสผ่านลายนิ้วมือ สแกนใบหน้า หรือแค่ใช้พาสเวิร์ดก็พอ และควรเสี่ยงข้อมูลเก็บไว้บนคลาวด์หรือไม่ นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการแปลภาษา ประหยัดแบตเตอรี่ ตลอดจนการบริหารจัดการการใช้งานแอพพลิเคชั่นที่เจ้าของเครื่องใช้งานบ่อยๆ

ปัจจุบัน หัวเว่ยมีวิศวกรด้าน AI อยู่มากกว่า 2,000 คน เป็นทีมที่ทำเกี่ยวกับ AI ในสมาร์ทโฟนเป็นการเฉพาะกว่า 100 คน แต่ยากที่จะประเมินว่าแต่ละปีลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา AI ไปเท่าไร เนื่องจากเริ่มต้นศึกษา วิจัย และพัฒนาเกี่ยวกับ AI มาได้ 3-4 ปีแล้ว

นอกจากการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของมือถือด้วยเทคโนโลยี AI แล้ว ในขั้นตอนผลิต AI ก็เข้ามามีบทบาทเช่นกัน

ด้วยกำลังการผลิตราวปีละ 139 ล้านเครื่อง (ตัวเลขเมื่อปี 2559) AI และหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทอย่างมากในสายการผลิตของหัวเว่ย

ยกตัวอย่างในโรงงานผลิตและประกอบสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ของหัวเว่ยที่เมืองตงกวน ซึ่งมีกำลังการผลิตเดือนละ 1.3 ล้านเครื่องนั้น ใน 1 สายการผลิต ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบได้มือถือ 1 เครื่อง ต้องผ่านกระบวนการประมาณ 40-50 ขั้นตอน ประกอบชิ้นส่วนทั้งสิ้นประมาณ 3,000-5,000 ชิ้นเข้าด้วยกันจนได้มือถือ 1 เครื่อง หัวเว่ยใช้คนทั้งสิ้น 26 คน ใช้พื้นที่ในโรงงานสำหรับสายการผลิตดังกล่าวยาว 125 เมตร ผลิตได้เฉลี่ยตกวันละ 2,600 เครื่อง

...

ขั้นตอนส่วนใหญ่ใช้หุ่นยนต์ รวมทั้งมือกลเข้ามาช่วยทำงาน มีแรงงานมนุษย์บางขั้นตอนที่ต้องใช้ความละเอียด เช่น การใส่ฮาร์ดแวร์อย่างแบตเตอรี่ หรือฝาเข้ากับตัวเครื่อง ซึ่งเป็นขั้นตอนประกอบท้ายๆ

โดยหัวเว่ยมีเป้าหมายใช้หุ่นยนต์หรือ AI เข้ามาช่วยมากขึ้น ปีที่ผ่านมา 1 สายการผลิตใช้คน 28 คน ลดเหลือ 26 คนในปีนี้ ส่วนปีหน้ามีเป้าหมายลดลงอีก แต่ยังไม่เปิดเผยตัวเลข.