• รู้จักพื้นที่ "ชุมชนบ้านน้ำกุ่ม" หมู่บ้านชายขอบ จ.พิษณุโลก ที่ใช้ประโยชน์จากป่า พร้อมส่งต่อวิถีชีวิตให้กับเยาวชนในพื้นที่ 
  • จากพื้นที่ป่าสัมปทาน ภูเขาหัวโล้น สู่วันที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากป่าได้เต็มที่ ทั้งเป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ โดยที่ป่ายังสมบูรณ์


หากพูดถึงการ “ปลูกป่า” เชื่อว่าหลายคนคงรู้ว่า มีประโยชน์อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การเพิ่มพื้นที่ซับน้ำ ช่วยลดโลกร้อน ฯลฯ แต่ก็ต้องยอมรับว่า บางครั้งเราไม่มีตัวชี้วัดได้เลยว่า การที่เราปลูกป่า หรืออนุรักษ์ป่าเอาไว้นั้น มันมีประโยชน์ตามที่ว่าให้เราได้จริงๆ มากน้อยแค่ไหน

แต่ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็อยากให้ทุกคนยอมรับว่า “ป่า” คือ พื้นที่สำคัญ ที่เกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตของเรา ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม

เช่นเดียวกับพื้นที่ที่เราจะพาไปรู้จักกันวันนี้อย่าง ชุมชนบ้านน้ำกุ่ม ตำบลน้ำกุ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ชายขอบ ตั้งอยู่ในหุบเขา ปิดล้อมด้วยภูเขาสูง และต้นไม้ทุกด้าน หากใครจะไปที่ตำบลแห่งนี้ จะต้องขับรถผ่านเส้นทางสูงชันและคดเคี้ยว ซึ่งเป็นทางเดียวที่เข้าสู่ชุมชน จะเรียกว่าเป็นดินแดนลับแล ก็ไม่ผิด 

ซึ่ง ชุมชนตำบลน้ำกุ่ม แต่เดิมนั้นขึ้นอยู่กับตำบลนครชุม ของอำเภอนครไทย แต่เนื่องจากจำนวนหมู่บ้านมากขึ้น ทำให้การปกครองไม่ทั่วถึง จึงแบ่งแยกออกจากตำบลนครชุมเมื่อปี พ.ศ. 2517 และใช้ชื่อว่า "ตำบลน้ำกุ่ม" ซึ่งมาจากลำน้ำกุ่ม แหล่งต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำแควน้อย โดยมีทั้งหมด 7 หมู่บ้านด้วยกัน

...


แล้วพื้นที่ “ชุมชนตำบลน้ำกุ่ม” น่าสนใจอย่างไร


ด้วยพื้นที่ตำบลน้ำกุ่ม มีเทือกเขาและป่าไม้ปิดล้อมทุกด้าน จึงมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูขัด และอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ ทำให้มีป่าไม้และแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ผู้คนในชุมชนรู้จักใช้ประโยชน์จากป่าในการดำรงชีพ จนแทบจะไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอก 

แต่เพราะพื้นที่ภูเขาสูง อากาศบริสุทธิ์ คือ "ทุน" อย่างดี ครั้งหนึ่งพื้นที่แห่งนี้ จึงกลายเป็นพื้นที่ป่าสัมปทาน ป่าไม่ถูกทำลาย กลายเป็นภูเขาหัวโล้น ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ อุทกภัยครั้งใหญ่ จนเป็นสาเหตุให้คนในชุมชน ที่เป็นคนหนุ่มสาว ต้องอพยพออกไปทำงานต่างถิ่น คงเหลือไว้แต่เด็ก และผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ไม่สามารถไปทำงานตรากตรำในเมืองได้ 

กระทั่ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เห็นศักยภาพของชุมชน จึงเข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนากลไกการจัดการท้องถิ่น เพื่อพลิกฟื้นผืนป่าแห่งนี้ให้กลับมาสดใสอีกครั้ง และเมื่อปี พ.ศ. 2561 องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำกุ่ม (อบต.น้ำกุ่ม) จึงได้จัดการให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กับเด็ก และเยาวชนในพื้นที่ ผ่านโครงการเยาวชนหัวใจสีเขียว จุดประสงค์ก็เพื่อปลูกฝัง สร้างจิตสำนึก ความเอาใจใส่ดูแลทรัพยากรป่าไม้ หรือแม้กระทั่งการส่งเสริมการปลูกป่า อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ แหล่งน้ำสำคัญ โดยดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


“วิถีชาวบ้าน” สู่การจัดการเพื่อคนในชุมชน


ในวันที่เราร่วมออกสำรวจพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ อบต.น้ำกุ่ม และปราชญ์ชาวบ้าน ผ่านกิจกรรมศึกษาเรียนรู้แหล่งอาหารผ่านคนสองวัย การรู้จักต้นไม้ และใช้ประโยชน์จากป่านั้น ทำให้เราเห็นว่าพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้มีการจัดการพื้นที่ และใช้ประโยชน์จากป่าที่เขามีอย่างไร เมื่อป่าแห่งนี้หมดสัมปทาน อาทิ การสร้างฝายทดน้ำ เพื่อจัดการน้ำกิน และน้ำใช้ในพื้นที่ ให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์จากแหล่งน้ำที่มี ทั้งการบริโภค อุปโภค รวมถึงใช้กับพื้นที่การเกษตรได้ทั้งปี แม้จะเข้าสู่ช่วงหน้าแล้งก็ตาม 

การหาอาหารจากป่า จำพวกหน่อไม้ เห็ดนานาชนิด ผักต่างๆ เพื่อนำมาประกอบอาหาร หรือแม้กระทั่งการจัดการขยะ ซึ่งมีการคัดแยกขยะ 539 ครัวเรือน จากทั้งหมด 595 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 90.59 เลยทีเดียว

และ “ป่า” ยังสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน จากดอกหญ้าไม้กวาด ที่ขึ้นอยู่ตามที่โล่งเชิงเขา ในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม ชาวบ้านก็จะขึ้นไปตัดดอก เพื่อมาทำ “ไม้กวาดดอกหญ้า” ก่อนที่ทาง อบต.น้ำกุ่ม จะเข้ามาสนับสนุนชาวบ้าน ตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้กวาดดอกหญ้า

...

นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีความร่วมมือกันทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น การปลูกป่า การทำแนวป้องกันไฟ การปลูกหญ้าแฝก สร้างฝายชะลอน้ำ การให้ความรู้ชาวบ้าน ใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อทำการเกษตรให้ได้ประโยชน์สูงสุด เป็นต้น


“กำไร” จากการอนุรักษ์พื้นที่ “ป่า”


เมื่อหน่วยงานอย่าง สสส. เห็นศักยภาพ ของพื้นที่ อบต.น้ำกุ่ม และเข้ามาสานพลัง พลิกฟื้นผืนป่าร่วมกัน สิ่งที่ได้จากความร่วมมือในครั้งนี้ ที่เห็นได้ชัดคือ ภูเขาที่เคยเป็นพื้นที่ป่าหัวโล้น กลับมาอุดมไปด้วยต้นไม้นานาชนิดอีกครั้ง และช่วยลดการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ รวมถึงสร้างอาหาร เพิ่มรายได้-ลดรายจ่ายระดับครัวเรือน แต่ที่ดูเหมือนจะเป็น “กำไร” คือ การที่ชาวบ้านหลายคน ได้หวนกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในพื้นที่อีกครั้ง แบบพอเพียง และรายได้เพียงพอต่อการดำชีพ ก็เป็นตัวชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่า การฟื้น “ป่า” มีประโยชน์ได้มากกว่าที่เราเรียนรู้มาจากตำรา.

...