คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวโครงการ Chula Learn-Do-Share 2024 พร้อมร่วมมือขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอน

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณวีระวัฒน์ ชลายน ประธานกรรมการมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ กล่าวถึงการทำงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ และสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) ภายใต้มูลนิธิอรุณ สรเทศน์ สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยให้ความสำคัญกับบทบาทและการปรับตัวของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของธุรกิจที่ยั่งยืนของประเทศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และ Net zero GHGs ในปี 2065 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบบริบทของประเทศ ในการจัดงาน อรุณ สรเทศน์ รำลึกประจำปี 2567 เมื่อวันพุธที่ 6 มีนาคม 2567 ณ หอประชุมวิศวฯ จุฬาฯ "HALL OF INTANIA" ชั้น 1 อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

...

ภายในงานมีการเปิดตัว "โครงการ Chula Learn-Do-Share 2024" โดยศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน และคุณวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันพัฒนาศักยภาพของนิสิตและบุคลากรของหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือมุ่งสู่การเป็นกลุ่มคน Green talent ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม การมอบทุนการศึกษาให้แก่นิสิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อีกทั้ง ยังมีการประกาศความร่วมมือการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยนวัตกรรม ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ ผ่านการประยุกต์ และบูรณาการศาสตร์ทางวิศวกรรมและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยนวัตกรรม

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคนโยบายผ่านการบรรยายพิเศษ หัวข้อ "ความท้าทายในการเดินหน้าอนาคตประเทศ : COP28 Global stocktake และความสำคัญของ Supply chain management" ซึ่งมองว่าการดำเนินงานของประเทศไทยที่ทำอยู่ในปัจจุบันนั้น ยังเป็นการยากที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงต้องวางกรอบนโยบาย ตลอดจนการกำหนดกลไกและเครื่องมือ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมาย

อีกทั้งหวังว่า ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังดำเนินการจัดทำจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และเสวนาวิชาการหัวข้อ "The Path to Carbon Neutrality: Transforming Green Supply chains and Business" โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อหาแนวทางในการนำพา SMEs ของประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง

คุณวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงการปรับตัวของภาคพลังงาน กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ได้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ควบคู่กับการจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและนำเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานเข้ามาประยุกต์ใช้ ได้แก่ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) และ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pump Storage) เพื่อให้สามารถเก็บไฟฟ้าส่วนที่ผลิตไว้ใช้ในอีกช่วงเวลาหนึ่งได้ อีกทั้งการสนับสนุนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานมากยิ่งขึ้น เป็นต้น โดยปัจจัยสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมาย Carbon Neutrality คือเน้นการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม

...

ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงความท้าทายของภาคธุรกิจในการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนว่า ภาคการเงินควรมีบทบาทในการให้ความรู้ ทำให้มีความเข้าใจที่ตรงกันกับองค์กรธุรกิจ รวมถึงให้ข้อมูลควบคู่กับเทคโนโลยี เพื่อสามารถตรวจสอบและประเมินต้นทุนคาร์บอนตลอดจนกำหนดเส้นทางการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้

ขณะที่ คุณธนกร ชาลี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เป็นการบริหารจัดการข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยี dashboard recording เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีนัยสำคัญ ซึ่งสามารถประเมินและแปลงหน่วยเพื่อนำมาคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถจัดทำรายงานเบื้องต้นเพื่อแสดงสถานะการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์เบื้องต้นขององค์กร เพื่อจัดทำเป้าหมายการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรต่อไป 

ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน กล่าวถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาในเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยสถาบันการศึกษาควรให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นกลาง รวมถึงสร้างงานวิจัยที่สามารถทำร่วมกับองค์กรเพื่อแก้ไขปัญหาจริงได้ โดยนำเทคโนโลยีเช่น AI เข้ามาช่วย ตลอดจนนำข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยมาต่อยอด นอกจากนี้โครงการ learn-do-share ที่เปิดตัวในวันนี้ได้มีความคาดหวังจะพัฒนานิสิต นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาเพื่อสร้าง Green talent ที่ตอบโจทย์กับการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน.