พลังงานหมุนเวียนกลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับภาคอุตสาหกรรม ไม่เพียงช่วยประหยัดต้นทุนในระยะยาว ทั้งยังลดผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าในรูปแบบกำแพงภาษีคาร์บอน (CBAM) ซึ่งหลายประเทศเริ่มพิจารณาใช้มาตรการภาษีดังกล่าวเหมือนสหภาพยุโรปแล้ว ใครเป็นคู่ค้าอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของบริษัทส่งออกยังประเทศที่คิดกำแพงภาษีคาร์บอน ก็ต้องปรับตัวให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนดเช่นกัน

การขับเคลื่อนพลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมประกาศ นโยบายพลังงานสีเขียว (UGT) เป็นไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาดอย่างมีมาตรฐาน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งยังลดความเสี่ยงและความยุ่งยากในการจัดหาเอกสารรับรอง

ไม่เพียงแค่โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ แม้แต่หน่วยราชการและผู้ประกอบการหลายประเภท เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล โรงแรม ศูนย์การค้า ก็มีความต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า 1 เมกะวัตต์ แต่ที่ผ่านมาติดปัญหาอุปสรรคไม่สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ใบ ร.ง.4) ได้ เพราะติดขัดเงื่อนไขด้านทำเลที่ตั้ง

อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์พัฒนาไปมาก ใช้พื้นที่ในการติดตั้งแผงโซลาร์ลดลงเกือบ 3 เท่า เช่น โครงการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ เดิมใช้แผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 4,000 แผง แต่ปัจจุบันใช้แค่ 1,500 แผง อีกทั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้แล้วยังสามารถนำกลับมาแยกชิ้นส่วนและรีไซเคิลใช้งานต่อได้อีก นอกจากนี้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปยังดำเนินการได้โดยไม่ติดขัดเงื่อนไขด้านทำเลที่ตั้ง เพราะเป็นการติดตั้งบนอาคารที่มีอยู่แล้ว ไม่กระทบสิทธิการใช้ที่ดิน ทำให้ลดต้นทุนค่าพลังงาน เหมาะสมกับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม

...

การที่ คุณพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ประกาศปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป ออกจากการเป็นโรงงาน จึงเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับสภาพอุตสาหกรรมและการประกอบกิจการในปัจจุบัน โดยจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สถานที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทุกขนาดไม่ต้องมาขอใบอนุญาต ร.ง.4 อีก แต่ยังคงต้องขออนุญาตจากหน่วยราชการส่วนท้องถิ่น (ใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือกกพ. (ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า รวมถึงใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้า/ใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า/ใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม)

ขณะนี้ร่างแก้ไขกฎกระทรวงอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบ RIA น่าจะนำเสนอเข้า ครม.ได้ในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ หรือต้นเดือน มี.ค.

สำหรับข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย คุณพิมพ์ภัทราได้ตอบกระทู้ถามในสภาฯไว้อย่างชัดเจนว่า กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้มองแค่ความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน แต่คำนึงถึงความปลอดภัยของชุมชนและประชาชนด้วย กรณีติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้เองในสถานประกอบการที่เป็นโรงงาน ต้องจัดการซากแผงโซลาร์เซลล์ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว

กรณีติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อจำหน่ายไฟฟ้า ต้องจัดการซากแผงโซลาร์เซลล์ให้เป็นไปตามประกาศ กกพ.เรื่องมาตรการด้านออกแบบติดตั้ง และจัดการขยะและกากของเสียสำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

และ กรณีติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้เองบนหลังคาสถานประกอบการที่ไม่ใช่โรงงาน จะต้องจัดการซากแผงโซลาร์เซลล์เช่นเดียวกับการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

การปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อปไม่เพียง อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการของไทย ทั้งยัง ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ ให้มีความมั่นใจว่าถ้ามาลงทุนแล้วจะมีพลังงานสะอาดใช้ เพื่อให้สอดรับกับกติกาการค้าสากล ขณะที่ประชาชนก็ได้ประโยชน์จากการลดผลกระทบมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5

ก็ถือเป็นการทำงานรับลูกกันอย่างดีระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้คนไทยเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากขึ้น พัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม