กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบายลักษณะของ "ปูทะเลไทย" พร้อมแนะนำ 4 ขั้นตอนในการปล่อยปู เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ
วันที่ 30 มกราคม 2567 มีรายงานว่า แฟนเพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะปูทะเลในไทย พร้อมเชิญชวนให้ปล่อยปูฟื้นฟูธรรมชาติ ระบุว่า ปูทะเลในไทยอย่าง ปูดำ ปูขาว ปูเขียว ปูม่วง มีลักษณะกระดองกลมรีเป็นรูปไข่ สีดำปนแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม ขอบระหว่างนัยน์ตามีหนาม 4 อัน ส่วนด้านซ้ายนัยน์ตาแต่ละข้างมีหนามข้างละ 8-9 อัน ก้ามจะมีหนามแหลม ส่วนขาอื่นๆ ไม่มีหนาม
ตัวผู้ จะมีก้ามขนาดใหญ่แข็งแรงกว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด เจริญเติบโตด้วยวิธีการลอกคราบ โดยตรงขอบหลังของกระดอง จะเผยออกให้เห็นกระดองใหม่ ยังเป็นเนื้อเยื่อบางๆ ซึ่งเรียกว่า ปูสองกระดอง
ถ้าหากเป็นตัวเมียที่ความสมบูรณ์เพศจะมีไข่อยู่ในกระดอง ซึ่งพบมากในเดือนพฤศจิกายน ปลายสุดของขาคู่ที่ 2-4 มีลักษณะแหลม เรียกว่า ขาเดิน ทำหน้าที่ในการเคลื่อนที่ ส่วนขาคู่ที่ 5 เป็นคู่สุดท้าย เรียกว่า ขาว่ายน้ำ ตอนปลายสุดของขาคู่นี้มีลักษณะแบนคล้ายใบพาย ใช้สำหรับว่ายน้ำ อาศัยอยู่ในโคลนตมตามป่าชายเลนหรือปากแม่น้ำที่น้ำท่วมถึง กินอาหารจำพวกสัตว์ขนาดเล็ก ซากพืช ซากสัตว์ต่างๆ
สำหรับในประเทศไทย พบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ปูทะเลนั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์ในฐานะของสัตว์เศรษฐกิจ
นอกจากนี้แล้ว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังได้แนะนำ 4 ขั้นตอนในการปล่อยปูทะเล ฟื้นฟูธรรมชาติอย่างถูกวิธี ดังนี้
- ควรเลือกปูที่มีความแข็งแรง รยางค์ต่างๆ มีครบ โดยเฉพาะขาว่ายน้ำและก้ามหนีบ เพราะเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิตของปู
- ตัดเชือกแก้มัดให้ปูทะเลก่อนปล่อย พยายามอย่าให้มีเชือกติดพันกับตัวปู
- ปูที่อ่อนแอควรขังไว้ในภาชนะที่ใส่น้ำจืด เพื่อฟื้นตัวก่อนการปล่อย
- ควรปล่อยปูในขณะน้ำขึ้น หรือในบริเวณที่มีน้ำท่วมเหนือกระดองปู หรือควรปล่อยในบริเวณที่มีร่มไม้หรือรากไม้ เพื่อให้ปูที่กำลังอ่อนแอมีที่หลบซ่อน ควรหลีกเลี่ยงบริเวณพื้นที่เปิดโล่งที่มีแดดแรง เพราะอาจจะทำให้ปูแห้งตาย หรืออาจเป็นเหยื่อของสัตว์ผู้ล่าได้ง่าย โดยช่วงที่ดีที่สุดควรเป็นช่วงเย็น
...
ทั้งนี้ ควรซื้อปูจากในชุมชนที่ท่านจะปล่อย ส่งเสริมรายได้ชุมชน แล้วยังได้บุญอีก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ชุมชนธนาคารปูเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลทั้ง 111 ชุมชนทั่วประเทศ หรือโทร. 02-1411344 กองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย.
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง