• รู้จัก Global treaty on plastics สนธิสัญญาว่าด้วยพลาสติก สนธิสัญญาระดับโลก ที่มีเป้าหมายเพื่อลดมลพิษพลาสติกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2040
  • แม้สนธิสัญญาฉบับนี้ จะยังไม่บรรลุ แต่ไทยควรจะต้องรับมืออย่างไร เพื่อการลดใช้พลาสติกในประเทศ

เนื่องจากการผลิตพลาสติกของโลก ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านตัน ในปี 1950 เป็น 348 ล้านตันในปี 2017 และคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็นสองเท่าภายในปี 2040

ซึ่งการผลิตพลาสติกที่เพิ่มจำนวนอย่างมากนั้น ก่อให้เกิดวิกฤติต่อโลกในหลายด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมลภาวะ และมลพิษทางอากาศจากการเผาพลาสติกในที่โล่ง

ทั้งนี้จากข้อมูลของ United Environment Programme (UNEP) คาดว่าภายในปี 2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การใช้ และการกำจัดพลาสติกจะคิดเป็น 15% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ภายใต้เป้าหมายในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5°C (34.7°F) สัตว์ทะเลและชายฝั่งมากกว่า 800 สายพันธุ์ได้รับผลกระทบจากมลภาวะนี้ จากการที่ขยะพลาสติกประมาณ 11 ล้านตันไหลลงสู่มหาสมุทรทุกปี และอาจเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าภายในปี 2040 เมื่อเทียบกับปี 2016

ดังนั้น ประชาคมโลกจึงต้องหาวิธีการรับมือกับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต การร่างข้อตกลงร่วมกันเป็นสนธิสัญญาพลาสติก จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

...

รู้จัก "สนธิสัญญาพลาสติก"

Global treaty on plastic หรือสนธิสัญญาระดับโลกว่าด้วยพลาสติก เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่นำเสนอเพื่อแก้ไขวิกฤติมลพิษจากพลาสติกทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อลดมลพิษพลาสติกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2040

ทั้งนี้ สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แม้สนธิสัญญาจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่มีการเริ่มร่างแผนงานเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายแล้ว โดยแผนการกำจัดขยะพลาสติกขององค์การสหประชาชาติ ที่เรียกว่า System change scenario กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมลง 80% ภายในปี 2040 ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1. การใช้ซ้ำ 2. รีไซเคิล 3. ปรับเปลี่ยนทิศทางและกระจายความเสี่ยง และ 4. การจัดการกับขยะพลาสติกที่ไม่สามารถใช้ซ้ำ (Reuse) หรือรีไซเคิล (Recycle) ได้

อย่างไรก็ตาม แผนงานตาม System change scenarios มีความท้าทาย และมีข้อกังขาอีกหลายด้าน รวมถึงยังมีความท้าทายและทำได้ยาก เนื่องจากต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดเรื่องของเทคโนโลยี การลงทุนเนื่องจากต้นทุนที่ค่อนข้างสูง การจัดการกับขยะพลาสติกที่ไม่สามารถใช้ซ้ำ (Reuse) หรือ รีไซเคิล (Recycle) ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการร่วมกันกำหนดนโยบาย กฎระเบียบ และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC เผยแพร่บทวิเคราะห์ เรื่อง Global treaty on plastic หรือสนธิสัญญาระดับโลกว่าด้วยพลาสติก ที่กำลังได้รับการพัฒนาและคาดว่าจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต โดยมองว่า แม้ว่าสนธิสัญญาจะยังไม่บรรลุ แต่ไทยควรเร่งปรับตัวและหาโอกาสเร่งปรับตัว เนื่องจากสนธิสัญญาส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมพลาสติก การปรับตัวของไทยอาจรวมถึงการลดการใช้พลาสติกและการใช้วัสดุชีวภาพแทน รวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการรีไซเคิลและโครงการนำกลับมาใช้ใหม่



ในส่วนของภาครัฐเอง อาจต้องออกนโยบายและกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการกำจัดพลาสติก ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของสนธิสัญญา ซึ่งจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลาสติกที่ยั่งยืนต้องอาศัยต้นทุนสำหรับการวิจัย พัฒนา และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอาจต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาสำหรับวัตถุดิบและการเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ควรมีการบูรณาการให้สอดรับกันทั้งระบบ

...

นอกจากนี้ ยังควรมีการปรับปรุงการจัดการขยะ สร้างระบบการเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพและการคัดแยกและแปรรูปที่ดีขึ้น เพื่อลดการรั่วไหลของพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมโดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในเชิงบูรณาการ

อ้างอิงจาก scbeic