วิโรจน์ เรืองแสงศิลป์


ประเด็นร้อนกรณี...ชุดสืบสวนตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว นำกำลังเข้าตรวจสอบชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่งที่แอบมาเปิดออฟฟิศในพื้นที่รับผิดชอบ จนนำไปสู่การตรวจพบ โทรศัพท์มือถือกว่า 500 เครื่อง... ซิมการ์ดค่ายโทรศัพท์ต่างๆในประเทศไทยอีกกว่า 340,000 เลขหมาย

ตัวเลขการครอบครองซิมการ์ดในจำนวนมหาศาลขนาดนั้น สร้างความฉงนใจให้กับผู้คนทั่วไปมากมาย ยิ่งทาง กสทช. หน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการรับผิดชอบ ย่อมสงสัยหนักขึ้น จนถึงขั้นมีการสั่งให้ค่ายโทรศัพท์ทั้งสามแห่งตรวจสอบว่าไปจากที่ใด และซิมทั้งหมดมีการลงทะเบียนโดยบุคคลใดบ้าง

ข้อมูลความคืบหน้าจนถึงวันที่ 28 มิ.ย.2560 ที่ทางผู้บริหารของ กสทช.ได้รับคือ ด้วยเงื่อนไขระยะเวลาที่ กสทช.ให้มา ค่ายยักษ์ทั้ง 3 ค่ายไม่สามารถตรวจสอบได้ทัน แล้วเรื่องนี้ก็ทำท่าเหมือนจะเงียบหายไป

แหล่งข่าวจาก กสทช.บอกว่า ความเป็นจริงการตรวจสอบพบซิมการ์ดจำนวนกว่าสามแสนเลขหมายนั้นในทางกฎหมายของประเทศไทย ไม่สามารถเอาผิดใดๆกับผู้ครอบครองซิมจำนวนมหาศาลขนาดนั้นได้

โดยเฉพาะผู้ให้บริการก็ไม่มีความผิดใดๆ เพราะฉะนั้นการไปไล่บี้ให้ค่ายยักษ์ทั้งสามค่ายเร่งชี้แจงก็มักจะได้รับการตอบสนองที่ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ประเด็นที่น่าสนใจ...

แล้วบุคคลเหล่านั้นจะถือครองซิมการ์ดจำนวนขนาดนั้นไปเพื่ออะไร?

วิโรจน์ เรืองแสงศิลป์ นักธุรกิจหนุ่มเจ้าของร้านกาแฟ Smart Coffee ซอยคู้บอน 41 และเป็น เจ้าของเว็บไซต์ Smart-mobile.com บอกว่า เทคโนโลยีปัจจุบันถูกพัฒนาให้มีการใช้งานอย่างง่ายขึ้น กลุ่มผู้ใช้ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้หมด ราคาไม่แพง ไม่ต้องเรียนอะไรซับซ้อน

...

ส่งผลให้ตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทย ได้เติบโตไกลอย่างก้าวกระโดด มีการติดต่อสื่อสารกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆกันอย่างรวดเร็วจนนำไปสู่การเติบโตของโลกโซเชียลขึ้นอย่างกว้างขวาง

“ในโลกโซเชียลกลายเป็นแหล่งธุรกิจให้คนอีกหลายกลุ่ม แต่มีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเติบโตขึ้นมาอย่างน่าสนใจคือ การรับจ้างปั่นไลค์และยอดผู้ติดตาม”

วิโรจน์ บอกว่า โดยพื้นฐานทั่วไป ร้านอาหารร้านไหนอร่อย ย่อมมีผู้คนจำนวนมากเข้าไปอุดหนุน เช่นเดียวกัน การค้าขายปัจจุบันได้พัฒนาไปเป็นการค้าขายแบบออนไลน์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะแสดงให้ลูกค้าออนไลน์เชื่อใจ มั่นใจ ในร้านค้าออนไลน์นั่นก็คือ ยอดไลค์ ที่เป็นตัวชี้วัดการแสดงความพอใจในสินค้านั้นๆ

เป็นความจริงที่ต้องยอมรับ...หากปล่อยให้การกดไลค์เป็นไปตามธรรมชาติ ยอดที่ได้รับอาจจะมีจำนวนไม่มากพอ หรืออาจต้องใช้เวลานานในการสร้างยอดไลค์ขึ้นมา จึงเป็นที่มาของธุรกิจรับจ้างปั่นยอดไลค์

เทคนิคพื้นฐานที่นำมาใช้กันแบบง่ายๆก็คือ สมัครบัญชีแอ็กเคาต์ขึ้นมาหนึ่งอัน แล้วใช้รูปผู้หญิงสวยๆ เซ็กซี่ มีภาพวาบหวิวนิดหน่อย แชร์ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่นานยอดไลค์ก็จะได้มาอย่างรวดเร็ว พอยอดไลค์ได้มาตามต้องการแล้ว ก็จะประกาศขายเพจ บอกชัดเจนว่า เพจนี้เปลี่ยนชื่อได้ เปลี่ยนหมวดหมู่ได้

โดยสนนราคามักจะอยู่ประมาณไลค์ละ 1 บาท เช่น 7,500 ไลค์ 7,500 บาท แต่ราคามักจะต่อรองได้ตามความเหมาะสม

สำหรับเทคนิคขั้นสูง พวกที่มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์ขอเรียกว่า...แฮกเกอร์ ก็จะพัฒนาโรบอท...โปรแกรมอัตโนมัติขึ้นมา เพื่อมาเป็นตัวช่วยในการกดไลค์ โดยการกดแต่ละครั้งนั้นสามารถกดได้ครั้งละ 100 ไลค์ 1,000 ไลค์ หรือมากกว่านั้น ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ซึ่งการที่จะกระทำแบบนี้ได้ แฮกเกอร์ทั้งหลายจำเป็นต้องมีบัญชีของผู้ให้บริการนั้นๆจำนวนมาก เช่น ถ้าต้องการปั่นไลค์ในเฟซบุ๊ก หรือในไลน์ แฮกเกอร์ก็ต้องมีบัญชีจริงของผู้ใช้ในจำนวนมหาศาล ซึ่งการได้มาของบัญชีนั้น ขั้นตอนในการสมัครจำเป็นต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์ อีเมลแอดเดรส

ในการสมัครเป็นสมาชิกของผู้ให้บริการนั้น อย่างไลน์ มีการกำหนดให้ 1 หมายเลขโทรศัพท์สมัครได้เพียง 1 บัญชี เพราะฉะนั้น ถ้าจะต้องการปั่นยอดไลค์ในไลน์จำนวน 100,000 ไลค์ ต้องมีบัญชีอยู่ในมือ 100,000 บัญชี พูดง่ายๆก็คือ ต้องมีเบอร์โทรศัพท์ในครอบครอง 100,000 เลขหมายเช่นกัน

ส่วนเฟซบุ๊ก ไม่ได้กำหนดให้สมาชิกที่สมัครต้องใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือในการสมัคร แต่จะมีการตรวจสอบไอพีแอดเดรส การได้มาของไอพีแอดเดรสนั้น ในโทรศัพท์หนึ่งหมายเลขก็จะได้รับไอพีที่แสดงตัวตนของเบอร์โทรศัพท์นั้น ในช่วงเวลาที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอยู่เพียงหนึ่งไอพี

“ระบบจะสามารถตรวจสอบได้ว่า ในหนึ่งซิมการ์ดนั้น หากมีการสมัครซ้ำหลายๆครั้ง ถ้าเป็นที่สงสัยของระบบ ก็จะถูกกีดกัน ไม่อนุญาตให้สมัครได้ แต่ถ้าหนึ่งไอพีแอดเดรส หรือหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ สมัครเฟซบุ๊กแค่ 2–3 บัญชี ไม่มากเกินไป ไม่ถูกจับตาแน่นอน”

เพราะฉะนั้นจึงเป็นคำตอบว่า ทำไมชาวต่างชาติกลุ่มนั้นจึงครอบครองซิมการ์ดไว้กว่า 340,000 เลขหมาย พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ต้องการที่จะใช้ซิมการ์ดนั้นสมัครบัญชีเฟซบุ๊กไว้ในครอบครองจำนวนมาก ซึ่งในซิม 340,000 เลขหมายนั้น ถ้าสมัครบัญชีเฟซบุ๊กแบบที่ไม่มีใครสงสัยเพียงซิมการ์ดละ 3 บัญชี...

จะมีบัญชีเฟซบุ๊กในครอบครอง จำนวน 1,020,000 บัญชี

สามารถกดยอดไลค์และยอดติดตามกว่า 1 ล้านกว่าไลค์ได้แล้ว

บวกกับระบบเกี่ยวโยงของเฟซบุ๊ก ในการที่จะแนะนำคนให้เข้าเป็นเพื่อนกัน มีการรับเพื่อนเข้ามาอยู่ในลิสต์ เกี่ยวโยงกันไปมา ยอดไลค์จาก 1 ล้านไลค์ ก็จะทวีคูณยิ่งขึ้นไปอีก

ลองคิดง่ายๆ ถ้าซิมการ์ด 340,000 เลขหมายนั้น ไปเกี่ยวโยงโดยการแลกเปลี่ยนไลค์ กับอีกกลุ่มหนึ่ง 200,000 เลขหมาย มีการสมัครบัญชีเฟซบุ๊ก เลขหมายละ 3 บัญชีเหมือนกัน สามารถกดไลค์ได้กว่า 1 ล้าน 6 แสนเลขหมาย...บวกกับการเพิ่มเพื่อนในเฟซบุ๊กอีก ไม่ต้องคิดเยอะหนึ่งบัญชีมีเพื่อนแค่ 10 คน ใน 10 คน มีคนกดไลค์ให้เพียง 1 คน ยอดไลค์ที่ได้เพิ่มมาอีกกว่า 1 ล้านไลค์

รวมคร่าวๆ เล่นไปกว่า 2 ล้าน 6 แสนไลค์...ทีเดียวเชียว

วิโรจน์ บอกว่า การปั่นไลค์พวกนี้ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มักไม่นิยมที่จะต้องให้ตัวเลขสูงถึงเป็นหลักล้าน แต่ในแวดวงการเมือง หรือบุคคลสาธารณะ มักจะชื่นชอบและนิยมตัวเลขหลักล้านอยู่เสมอ

“นักการเมืองมักเป็นบุคคลที่ฉลาด การกระทำการใดๆในการหาเสียง ต้องทำกันแบบต่อเนื่อง โพสต์ให้ผู้คนเห็นบ่อยๆ ถ้าจะมีการจ้างกดไลค์เช่นนี้ให้กับตัวเอง ก็ต้องเสียเงินหลายต่อ หลายรอบ เพราะไม่ใช่แค่กดเพียงครั้งเดียว เพราะฉะนั้น สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือ ซื้อตัวแฮกเกอร์ให้มาสร้างโรบอทช่วยกดยอดไลค์ และยอดติดตามของตัวเองเลย...จ่ายเงินให้เป็นแบบรายเดือน”

ตัว “แฮกเกอร์” จะอยู่ส่วนไหนของโลกนี้ก็ได้ ไม่ต้องมาปรากฏตัวให้เห็น ขอแค่ทำผลงานยอดไลค์ให้ทีมงานนักการเมืองพอใจก็เพียงพอ

“ตัวโรบอทในการกดไลค์พวกนี้ ถูกพัฒนาขึ้นตลอดเวลา เรียกว่าปรับปรุงกันเป็นรายวัน เพราะผู้ให้บริการไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ ก็จะอุดช่องโหว่ในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง สังเกตว่าผู้ให้บริการเหล่านี้มักจะมีการปรับปรุงอัพเดตเวอร์ชั่นอยู่เสมอ”

อีกด้านหนึ่ง...คนในแวดวงคอมพิวเตอร์ แฮกเกอร์ โปรแกรมเมอร์ ก็ไม่หยุดพัฒนา มีการเจาะหาช่องว่างพวกนี้ไปอย่างตลอด แต่ก็มีหลายคนเริ่มกลับมาใช้เทคนิคพื้นฐาน โดยการใช้มนุษย์รับจ้างกด เพราะนอกจากไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับการปรับปรุงในการเจาะระบบแล้ว ยังจะถูกจับตาจากทางผู้ให้บริการน้อยลง

พรุ่งนี้มาว่ากันต่อเรื่อง การ “ปั่น” ยอด “ไลค์” แบบใช้มือกด.