กรมป่าไม้ลั่นยังไม่มีการอนุญาตให้สร้างสนามบินพังงา จ.พังงา ในเขตป่าสงวนแห่งชาติคลองทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จำนวน 2 พันไร่ หลังเอกชนขอเข้าทำประโยชน์ 30 ปี ย้ำจากนี้การขออนุญาตต้องพิจารณาทุกมิติ คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ...

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2560 นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่คลองทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีความกังวลเรื่องโครงการก่อสร้างสนามบิน ของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบางกอกแอร์เวย์ส ในเขตป่าสงวนแห่งชาติคลองทุ่งมะพร้าว ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เนื้อที่ประมาณ 2 พันไร่ กำหนดเวลา 30 ปี ที่อาจส่งผลกระทบกับชีวิตชาวบ้านและชุมชนที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติคลองทุ่งมะพร้าว ว่า กรมป่าไม้ยังไม่มีการพิจารณาอนุญาตใดๆ ให้ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองทุ่งมะพร้าว ท้องที่หมู่ที่ 4 ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา

เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ประกอบการพิจารณา แต่ที่ผ่านมาการยื่นคำขออนุญาตยังไม่มีการจัดทำ EIA และโครงการก่อสร้างสนามบินดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน กรมป่าไม้ยังต้องรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาพิจารณาภายใต้ระเบียบ กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อใดที่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน กรมป่าไม้จะนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนการขอเข้าทำประโยชน์ หรือ อยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอเป็นเอกชนจะต้องยื่นคำขออนุญาตพร้อมเอกสารแนบท้ายคำขอ (เช่น ความเห็นชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 ตามความในมาตรา 16 แห่งพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเริ่มจากผู้ขอยื่นคำขอที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดท้องที่ จากนั้นจะเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาภายใน 7 วัน เพื่อให้ผู้ว่าฯ สั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพป่าภายใน 15 วัน พร้อมทั้งแจ้งสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ท้องที่ร่วมดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ แล้วรายงานผลต่อผู้ว่าฯ ภายใน 30 วันหลังตรวจสภาพป่าเสร็จสิ้น

...

นายชลทิศ กล่าวอีกว่า จากนั้นผู้ว่าฯ และผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ท้องที่ทำความเห็นเสนอกรมป่าไม้ภายใน 15 วัน เมื่อกรมป่าไม้ได้รับเรื่องราวคำขอดังกล่าวจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณา จากนั้นจะนำผลการพิจารณาเสนอคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ หากเห็นชอบกรมป่าไม้จะแจ้งจังหวัดท้องที่เพื่อออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

“นับจากนี้ไปการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ต้องมีการพิจารณาในทุกมิติ และคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่ประเทศชาติจะได้รับ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติถือเป็นหลักคิดสำคัญก่อนการอนุมัติโครงการใดๆ” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว.