พัฒนากาย-อารมณ์-ปัญญา
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการหารือแนวนโยบายการจัดการศึกษาปฐมวัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้บริหารของ ศธ. ร่วมประชุมมีข้อสรุปร่วมกันใน 4 เรื่อง ดังนี้ 1. รัฐธรรมนูญฯกำหนดให้จัดการศึกษาก่อนวัยเรียน อายุ 3-5 ขวบเป็นการให้โอกาสทางการศึกษาระดับปฐมวัย ไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ โดยอาศัยจังหวัดเป็นฐานมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นหน่วยงานจัดทำแผนบูรณาการและติดตามประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อปท. และโรงเรียนเอกชน เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาในเชิงหลักการให้ทุกสังกัด พยายามจัดในอัตราส่วนที่จัดอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจากการสำรวจตัวเลขประชากรอายุ 3 ขวบ มีจำนวน 760,896 คน ในจำนวนนี้ไม่ได้เข้าเรียน 72,706 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนทั้งหมด ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น อปท.จัด 437,000 คน หรือ 57% ในรูปแบบศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งมีอยู่ 19,429 แห่ง โรงเรียนเอกชนจัด 188,344 คน หรือ 25% ท้องถิ่นในรูปแบบโรงเรียนอนุบาลจัด 60,055 คน หรือ 8% ขณะที่ สพฐ.จัด 1,536 คน และโรงเรียนสาธิต จัด 1,257 คน โดยในส่วนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของท้องถิ่นที่มีอยู่ 19,429 แห่ง จะประเมินมาตรฐานศูนย์ฯที่มีความพร้อม เพื่อยกระดับเป็นโรงเรียนอนุบาลด้วย
ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า เรื่องที่ 2 หลักสูตรการเรียนการสอน จะใช้หลักสูตรของ ศธ. เป็นหลักเน้นส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญาและสังคม แต่ก็ไม่ทิ้งทักษะการอ่านออกเขียนได้ การพูดและคิดคำนวณ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเรียนชั้น ป.1 แต่การคัดเลือก ศธ.มีนโยบายให้ประเมินจากพัฒนาการของเด็กเป็นหลัก ไม่ใช้วิธีการสอบข้อเขียน เรื่องที่ 3 มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กำหนดมาตรฐานเพื่อพัฒนาโรงเรียนที่เปิดสอน เรื่องที่ 4 ในหลักการจะใช้อัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กในระดับอนุบาล ที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน คือ 2,830 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งรวมทุกอย่าง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ประมาณ 1,700 บาทต่อคนต่อปีเฉพาะค่าจัดการศึกษา โดยให้แต่ละหน่วยงานไปประมาณการค่าใช้จ่ายรายหัว เพื่อขอแปรญัตติในปีงบประมาณ 2561 ต่อไป.
...