มีรายงานวิจัยเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดลงในวารสารสมาคมหัวใจอเมริกัน จากการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบคทีเรียในลำไส้กับสารอาหารสำคัญที่ชื่อโคลีน นักวิจัยอาวุโส ดร.สแตนลีย์ แอล. เฮเซน จากคลีฟแลนด์คลินิกในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่า เมื่อแบคทีเรียในลำไส้ทำปฏิกิริยากับสารโคลีนหรือสารอาหารชนิดอื่นๆ จะผลิตสารที่ชื่อว่าไตรเมธิลเอมีน–เอ็น-ออกไซด์ (trimethyl amine–N–oxide–TMAO) ซึ่งระดับของสารชนิดนี้ในเลือดมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตีบตัน

ก่อนหน้านี้มีการวิจัยในสัตว์พบว่าระดับ TMAO ที่สูงจะเพิ่มความเสี่ยงที่เลือดจะจับตัวเป็นก้อนเลือด เมื่อนำมาวิจัยกับอาสาสมัคร 18 คนที่ได้รับสารโคลีนนาน 2 เดือน พบว่าระดับ TMAO ในเลือดมากขึ้น 10 เท่า เกล็ดเลือดมีแนวโน้มแข็งตัวเพิ่ม ทีมนักวิจัยเผยว่า เมื่อใช้ยาแอสไพริน จะช่วยลดความหนืดของเกล็ดเลือดรวมถึงลดการเพิ่มขึ้นของสาร TMAO แต่ไม่สามารถกำจัดออกไปอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังต้องค้นคว้าว่าการใช้แอสไพรินขนาดต่ำจะมีประโยชน์ต่อคนที่มีสาร TMAO ในเลือดสูงอย่างไร

อย่างไรก็ตาม โคลีนเป็นสารสำคัญที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ควรจะบริโภคอย่างเหมาะสม และหากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสารดังกล่าวหรือไม่.