ประเทศไทยเตรียมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบแล้ว เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 10.48 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรรวม (65.17 ล้านคน) ซึ่งคาดการณ์ว่า สัดส่วนของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมดในอีก 20 ปีข้างหน้า รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งศึกษา พัฒนาและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อม โดยพัฒนาองค์ความรู้ผ่านการวิจัยนำมาสู่การทดลองใช้รูปแบบต่างๆ เป้าหมายสำคัญ คือการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุพร้อมกับการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นโดยหวังว่าผู้สูงอายุจะยังคงแข็งแรงและรับรู้ว่าชีวิตมีคุณค่า

ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ คือประเทศญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้กลุ่มนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) รุ่นที่ 5 ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อการศึกษาเมืองต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน จึงได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการดูแลผู้สูงอายุ ณ เมืองซากุ จังหวัดนากาโน ประเทศญี่ปุ่น โดยรับฟังการบรรยายจากผู้ปฏิบัติงานทั้งที่มหาวิทยาลัย เทศบาลเมือง โรงพยาบาล และสถานบริบาลผู้สูงอายุ ในเมืองซากุ ก่อนนำมาวิเคราะห์ พร้อมจัดทำแบบสอบถาม และสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป

...

เมืองซากุ เป็นส่วนหนึ่งของเขตจังหวัดนากาโน ได้ฉลองและประกาศเป็นเมืองที่ประชากรมีสุขภาพดีและชีวิตยืนยาวที่สุดในญี่ปุ่น มีประชากรสูงอายุที่มีความสุขและได้ทำงานอย่างมีเป้าหมายในชีวิต โดยเทศบาลเมืองซากุ ร่วมกับชุมชนพัฒนาระบบบริการต่างๆ ให้เกิดความเชื่อมโยงกับหน่วยบริการอื่นๆในชุมชน ทั้งด้านการรักษาพยาบาลสวัสดิการ แรงงาน พัฒนาโปรแกรมการเรียนรู้ให้ประชากรมีชีวิตที่ยืนยาวและได้รับการจ้างงาน สร้างชีวิตที่มีคุณค่า

จากการศึกษาดูงานเทศบาลเมืองซากุ นายเซจิ ยานากิดา (Mr.Seiji Yanagida) นายกเทศมนตรีเมืองซากุ ได้บอกเคล็ดลับของความสำเร็จว่า “ความขยันสื่อสารพูดคุย สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันจะทำให้งานยากเป็นงานง่าย เกิดความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ ทำอะไรก็สำเร็จ และถึงแม้ไม่สำเร็จทุกคนก็พร้อมใจร่วมกันพัฒนาปรับปรุงแก้ไขหาทางให้เกิดความสำเร็จต่อไปได้” สิ่งสนับสนุนที่สำคัญคือการเริ่มระบบการประกันสุขภาพระยะยาว โดยมีสาระหลักเพื่อปฏิรูปด้านการแพทย์และการบริการด้านสวัสดิการของผู้สูงอายุ จากสถิติจำนวนผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง และสมองเสื่อมจำนวนมากเป็นภาวะพึ่งพิงผู้อื่นและต้องการการดูแลระยะยาว ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุคือประเด็นที่ยิ่งใหญ่สำหรับการมีชีวิตในวัยสูงอายุของคนในประเทศญี่ปุ่น โครงสร้างของการประกันสุขภาพและบริการการดูแลระยะยาว ประกอบด้วย 1) การบริการระยะยาวที่บ้าน และการบริการที่ใกล้ชิดจากชุมชน 2) การ บริการสิ่งสนับสนุน และ 3) การบริการเชิงการป้องกัน ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพและครอบครัวไม่ต้องรับภาระการดูแลผู้สูงอายุที่หนักเกินไป ถือว่าเป็นความสำเร็จของการปฏิรูปดังกล่าว

ส่วนมหาวิทยาลัยซากุ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ที่มีคณะวิชาเดียว คือคณะพยาบาลศาสตร์ มีคณาจารย์ที่มีคุณภาพและเป็นหลักสำคัญในการประสานความร่วมมือกับชุมชนและภาคเอกชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และโรงพยาบาลซากุ เป็นโรงพยาบาลเอกชน ที่เน้นการสร้างความร่วมมือกับชุมชน โดยใช้แนวคิด “Together with the Rural People” โดยมีแพทย์ 2 ท่านซึ่งเปรียบเสมือนบิดาด้านการสาธารณสุขของเมืองซากุเป็นต้นแบบ โดยท่านหนึ่งได้ประยุกต์แนวคิดที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน สร้างความตระหนักรู้ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพแก่ประชาชนในชุมชนผ่านการแสดงบทบาทสมมติ และละครต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อีกท่านเป็นแพทย์ที่สามารถลดอัตราการตายของประชาชนจากโรคหรือภาวะเส้นเลือดสมองแตก ตีบ ตัน (Stroke) ผ่านการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน ผ่านการพูดคุย การสร้างประสบการณ์เรียนรู้แก่ชุมชนในโอกาสต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนเจตคติและพฤติกรรมสุขภาพ ทำให้อัตราการตายลดลงอย่างเห็นได้ชัด และสามารถสรุปกุญแจสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในชุมชนคือ “อารมณ์ ขับเคลื่อนผู้คน และความเห็นอกเห็นใจสามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนได้”

ผศ.นพ.พิสิษฐ์ พิริยาพรรณ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.บูรพา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะนักศึกษา ปธพ.5 กลุ่มวิชาการ ไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้ กล่าวว่า เป็นที่น่าสนใจมากที่การบริหารจัดการเพื่อการดูแลผู้สูงอายุของเมืองซากุดำเนินการโดยภาคเอกชน และถือได้ว่าเป็นจุดแข็งของเขาเลยทีเดียว ทำให้เกิดความสงสัยว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือที่ตั้งอยู่บนความมีธรรมาภิบาลและสามารถดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชนจนประสบความสำเร็จเช่นของเขาได้

นอกจากนี้ คณะฯที่ไปดูงานต่างเห็นพ้องว่า การนำบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์และความสำเร็จของประเทศญี่ปุ่น เพื่อมาพัฒนารูปแบบและแนวทางการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยที่สำคัญ คือการให้ความสำคัญต่อประเด็นเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ และการประสานความร่วมมือเครือข่ายว่าเราจะยกระดับให้เป็นประเด็นที่ยิ่งใหญ่และสำคัญของคนในประเทศของเราเช่นเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญหรือไม่ การปฏิรูประบบบริการและการแสวงหาแนวทางเตรียมรองรับการเป็นสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบย่อมไม่ยากหากทุกคนให้ความสำคัญและใส่ใจ.