"อ.เจษฎา" เผย สภาวะ "ลานีญา" เกิดขึ้นแล้ว อากาศหนาวเย็นไปจนถึงกลางเดือน ก.พ. ขณะที่กรมอุตฯ คาด ช่วงฤดูร้อน จะไม่ร้อนเหมือนปีก่อนๆ เนื่องจากมีฝนฟ้าคะนอง ความชื้นสูง
วันที่ 14 มกราคม 2567 มีรายงานว่า รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ถึงสถานการณ์ลานีญา ระบุว่า มาแล้วลูกจ๋า "ลา นีญา" ที่หนูอยากได้
หลังจากมีการพยากรณ์ แล้วก็เฝ้ารอกันมาข้ามปี ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แต่สภาวะ ลานีญา (La Niña) ก็ยังไม่เกิดสักที .. ค่าดัชนี ENSO อยู่แค่ประมาณค่ากลาง (neutral) และติดลบนิดหน่อย ไม่เข้าสู่ระดับที่จะเรียกได้ว่าเกิดลานีญาแล้วสักที แต่คำทำนายล่าสุดของเดือนมกราคมนี้ ประกาศออกมาแล้วว่า เราเข้าสู่สภาวะลานีญา อย่างเป็นทางการแล้วครับ!
โดยหน่วยงาน NOAA ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการวิเคราะห์ค่า ENSO (EL NIÑO/SOUTHERN OSCILLATION) ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา เตือนว่า "ให้ระวังภาวะลานีญา"
ทาง NOAA ระบุว่า ตอนนี้เกิดสภาวะ La Niña ขึ้นแล้ว โดยเริ่มต้นเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ระดับอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเล ของมหาสมุทรแปซิฟิก ลดลงต่ำกว่า 0.5 องศาเซลเซียสแล้ว และคาดว่าจะคงอยู่ไปตลอดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน ปี 2025 นี้ (มีโอกาส 59%) โดยมีโอกาสที่อาจจะเปลี่ยนกลับมาเป็นค่ากลาง ในช่วงระหว่างมีนาคมถึงพฤษภาคม (มีโอกาส 60%)
ลานีญา (La Niña แปลว่า เด็กหญิง) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเกิดคู่กันกับเอลนีโญ (El Niño แปลว่า เด็กชาย)
...
ในช่วงที่เกิดลานีญา อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเล ตลอดมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางตะวันออกแถบเส้นศูนย์สูตร จะต่ำกว่าปกติ .. ซึ่งบางครั้งก็ต่ำมากกว่าปกติถึง 3-5 องศาเซลเซียส
ผลกระทบของลานีญา มักจะตรงกันข้ามกับของเอลนีโญ (ซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 0.5 °C) และลานีญามักเกิดขึ้น หลังจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรง
ผลกระทบของลานีญา คือมักจะทำให้เกิดช่วงแห้งแล้งในพื้นที่ฝั่งทวีปอเมริกา ขณะที่ทำให้เกิดฝนตกหนักในอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ถ้าเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ก็อาจทำให้ฝนตกหนักในออสเตรเลีย เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรงได้
สำหรับบ้านเรา การเกิดขึ้นของลานีญาในตอนนี้ ซึ่งระดับไม่ค่อยรุนแรงนัก (และไม่ได้มีแนวโน้มจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นไปสูงนัก) ก็คงจะมีผลดีที่ทำให้ไม่แห้งแล้งเกินไปในช่วงฤดูหนาวเลย
และน่าจะช่วยให้การเกิดไฟป่า เป็นไปได้ยากขึ้น กว่าช่วงปีที่เป็นสภาวะเอลนีโญ เหมือนหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งก็จะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่อง การเกิดฝุ่น PM 2.5 ที่มักจะเกิดขึ้นจากไฟป่า ในพื้นที่ภาคเหนือตอนต้นปี ลงได้บ้างครับ
ขณะที่ทางเพจเฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา ก็ได้โพสต์อธิบายเกี่ยวกับสถาการณ์ลานีญา และสภาพอากาศหนาวของไทย โดยระบุว่า ฤดูหนาว ยังไม่สิ้นสุด ทุกท่านสามารถดื่มด่ำกับบรรยากาศฤดูหนาวไปถึงกลางเดือน ก.พ. แต่ความหนาวเย็นจะเริ่มแผ่วไปบ้าง
จากนั้น เตรียมพร้อมรับฤดูร้อนต่อไป หลายคนสนใจว่าฤดูร้อนปีนี้ จะร้อนแรง และจะแห้งแล้งขนาดไหน น้ำดื่ม น้ำใช้จะเพียงพอ หรือน้ำในเขตชลประทานยังจะสามารถทำการเกษตรเพียงพอไปถึงฤดูฝนไหม และฝนจะพอมีเกิดขึ้นไหม จากนี้เป็นต้นไป มาติดตาม :
- เนื่องจากสถานการณ์ของปรากฏการณ์ใหญ่อย่าง เอนโซ บ่งชี้ว่าในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค. 68 ยังมีโอกาสเป็นลานีญาอ่อนๆ หรือเป็นกลาง จึงมีผลต่อกระแสลมที่พัดปกคลุมซึ่งจะเปลี่ยนเป็นลมใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น
- ช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค. 68 จึงยังพอมีความชื้นอยู่บ้าง ทำให้ยังมีโอกาสเกิดฝนฟ้าคะนอง เป็นระยะๆ แม้ในเดือน มี.ค.-เม.ย.68 จะเป็นช่วงฤดูร้อน (อากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิเฉลี่ยมากที่สุดในช่วงนี้)
- แต่ปีนี้คาดว่าจะไม่ร้อนแรงเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากมีฝนฟ้าคะนอง และมีความชื้นสูง แต่บางวันอาจจะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดได้เป็นช่วงๆ (ไม่ร้อนจัดติดต่อกันเหมือนปีที่แล้ว)
- โดยฝนคาดการณ์ให้สูงกว่าค่าปกติ ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. แต่จะต่ำกว่าค่าปกติในเดือน มิ.ย.67 (มีฝนทิ้งช่วงได้) ต้นปีฝนยังพอมี แต่กลางปียังต้องลุ้นและติดตามเป็นระยะๆ
(ข้อมูลนี้ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจ อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อมูลนำเข้าใหม่ เนื่องจากเป็นการพยากรณ์ระยะนาน ค่าความคลาดเคลื่อนสูง)
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์, กรมอุตุนิยมวิทยา