กรมอุตุฯ พยากรณ์อากาศ 15 วันล่วงหน้า เตือนรับมือฝนตกหนักอีกครั้งช่วง 12-15 ธ.ค. 67 ก่อนอุณหภูมิลดลง ลุ้นได้สัมผัสอากาศหนาว ช่วงเทศกาลคริสต์มาส

วันที่ 9 ธันวาคม 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา โพสต์อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน ทุกๆ 24 ชม. (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น. วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925 hPa (750 ม.) 15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 9-23 ธ.ค. 67 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) โดยระบุว่า วันนี้ (9 ธ.ค. 67) มวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้อุณหภูมิบริเวณภาคอีสานมีอากาศเย็นลง ในตอนเช้า อุณหภูมิลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ส่วนภาคอื่นๆ ลดลงเล็กน้อย

สำหรับภาคใต้ยังมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ตอนล่าง (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) คลื่นลมมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง ต้องติดตามเป็นระยะๆ และช่วง 10-11 ธ.ค. 67 มวลอากาศเย็นมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับจะมีกระแสลมตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้ในระดับกลางของชั้นบรรยากาศ (5.5 กม.) พัดปกคลุมภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง อาจทำให้มีเมฆเพิ่มขึ้นบ้างและมีฝนเล็กน้อย

ช่วง 12 - 16 ธ.ค. 67 มวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมอีกช่วง ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออก (Easterly wave) ในระดับกลางๆ ยังพัดปกคลุม ภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง กทม.และปริมณฑล ทำให้มีฝนในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิบริเวณประเทศไทยตอนบนจะลดลง

ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 67 โดยมีอากาศเย็นถึงหนาว หนาวถึงหนาวจัดบริเวณยอดดอย ยอดภู เตรียมวางแผนเดินทางท่องเที่ยวรับลมหนาวกันยาวๆ ต่อเนื่อง ส่วนภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยเมื่อลมหนาวแรงขึ้นประกอบมีคลื่นกระแสลมตะวันออกและหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุม จะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นได้และมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีหนักมากบางพื้นที่ ตั้งแต่ จ.ประจวบฯ ตอนล่าง ลงไป คลื่นลมแรงขึ้นต้องเฝ้าระวังเตรียมรับมือกันอีกช่วง

...

16 -23 ธ.ค. 67 จะมีมวลอากาศเย็นยังแผ่ปกคลุมและจะมีกำลังแรงจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน (21 ธ.ค.67) ทำให้อากาศเย็นลง โดยมีอากาศเย็นถึงหนาวต่อเนื่องบริเวณประเทศไทย เตรียมรับและสัมผัสอากาศหนาว ช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาส ส่วนภาคใต้ฝนจะลดน้อยลง คลื่นลมยังแรง ชาวเรือเดินด้วยความระวัง

(ในระยะ 15 วันข้างหน้านี้ ยังไม่มีสัญญาณการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อน แต่อาจจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำหรือหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ก่อตัวเป็นระยะๆ บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง และอ่าวไทยตอนล่างได้) (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลนำเข้าและประมวลผลใหม่ ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจและติดตามสภาพอากาศ)

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา