โรงเรียนสาธิต มศว.ปทุมวัน ประกาศปิดเรียน 2 สัปดาห์ ระหว่าง 13-27 พ.ย. 67 หลังพบเด็กป่วยไอกรน ด้านแพทย์ แนะสังเกตอาการ มีวัคซีนป้องกัน
วันที่ 13 พ.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี เฟซบุ๊กเพจ "โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน" ออกประกาศ เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไอกรน โดยระบุว่า สืบเนื่องจากการสอบสวนการระบาด กรณีพบผู้ป่วยโรคไอกรน ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 2567 จนถึงปัจจุบัน จำนวนมากกว่า 2 รายขึ้นไป ภายในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคไอกรนในโรงเรียน และตระหนักถึงความปลอดภัยของบุคลากร และนักเรียนที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าวในโรงเรียนฯ จึงเห็นสมควรให้ ปิดสถานศึกษาตั้งแต่วันที่ 13-27 พ.ย. 67 , งดใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน ระหว่างวันที่ 13-27 พ.ย. 67 , ให้ทุกระดับชั้นจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์เต็มรูปแบบ
การมอบหมายงานของอาจารย์ และการปฏิบัติงานของกลุ่มนักเรียน ต้องเป็นงาน หรือกิจกรรมที่ไม่มีการมารวมกลุ่มปฏิบัติกันโดยเด็ดขาด , ระหว่างวันที่ 13-27 พ.ย. 67 ขอให้บุคลากรปฏิบัติงาน ณ สถานที่พักอาศัยของตัวเอง โดยพร้อมรับการติดต่อจากผู้บังคับบัญชา ในส่วนของสายการปฏิบัติงาน ให้มาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำการ ระหว่างเวลา 08.30 - 15.30 น.
การเปิดสถานศึกษา ในวันที่ 28 พ.ย. 67 และสอบกลางภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.-4 ธ.ค. 67 ตามปกติ
ขณะที่ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบทางเดินหายใจ สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการไอ จาม และการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าไป โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบหรือภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอ มักพบการระบาดในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก
...
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคไอกรนในระยะแรกจะคล้ายหวัดธรรมดา มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย และมีไข้ต่ำๆ หลังจากนั้น 1-2 สัปดาห์ จะมีอาการไอรุนแรงเป็นชุดๆ จนกระทั่งหายใจเข้าดังวี้ด บางรายอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย โดยเฉพาะในเด็กทารกอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเขียว หยุดหายใจ และอาจเสียชีวิตได้ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการหากพบว่าเด็กมีอาการไอติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ไอรุนแรงจนอาเจียน หรือหายใจมีเสียงดังผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การระบาดของโรคไอกรนในปัจจุบันมีหลายปัจจัย หนึ่งในนั้น คือ การที่ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ได้รับในวัยเด็กเริ่มลดลงตามกาลเวลา โดยเฉพาะหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายในช่วงอายุ 4 ขวบ ประกอบกับการเคลื่อนย้ายของประชากรในภูมิภาคที่มีความแตกต่างของการเข้าถึงวัคซีนพื้นฐาน
สำหรับการป้องกันและควบคุมการระบาด สถานศึกษาจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวด ทั้งการคัดกรองนักเรียนที่มีอาการไอเรื้อรังหรือไอรุนแรงเป็นชุด แยกผู้ป่วย และให้หยุดเรียนจนกว่าจะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะครบ 5 วัน พร้อมทั้งแจ้งผู้ปกครองในห้องเรียนที่พบผู้ป่วยเพื่อเฝ้าระวัง ในส่วนของผู้สัมผัสใกล้ชิด ต้องได้รับยาปฏิชีวนะป้องกันและสังเกตอาการ 21 วัน ในเด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนยังไม่ครบ ควรมีการฉีดกระตุ้นให้เร็วที่สุด
สำหรับเด็กโตที่ ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นช่วงอายุ 11-12 ปี พิจารณาฉีดวัคซีนกระตุ้น Tdap (Tetanus-Diphtheria-acellular Pertussis) แม้จะเป็นวัคซีนทางเลือก แต่มีความปลอดภัยสูงเนื่องจากเป็นชนิดไม่พึ่งเซลล์ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อย
"โรคไอกรนอาจมีความรุนแรงในบางกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะทารกอายุน้อยกว่า 1 ปีที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง รวมถึงบุคลากรที่ต้องดูแลเด็ก จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ปกครองอาจไม่ทราบหรืออาจไม่ได้พาบุตรหลานไปรับวัคซีนกระตุ้นในช่วงประถมปลายหรือมัธยมต้น จึงขอความร่วมมือสถานศึกษาช่วยประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนผู้ปกครองถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนกระตุ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง" นายแพทย์อัครฐานกล่าวทิ้งท้าย