ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ “ฤดูฝุ่น PM 2.5” อีกครั้งหลังสิ้นสุด ฤดูฝนตาม “กรมอุตุนิยมวิทยา” ประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ต.ค.2567 “มวลอากาศเย็นจะแผ่เข้ามาปกคลุมภาคเหนือ และภาคอีสาน” ทำให้ในหลายพื้นที่จะมีสภาวะอากาศปิดแล้ว “ฝุ่นละออง” จากแหล่งกำเนิดก็ไม่อาจจะระบายออกจากพื้นที่ได้
กลายเป็นการสะสมฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือ มีแนวโน้มค่าฝุ่นจะสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2566 “ด้วยไฟป่าภาคเหนือเริ่มข้ามมายังภาคตะวันตกเพิ่มขึ้น” ทำให้พื้นที่ตั้งแต่ทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง เขื่อนศรีนครินทร์ เสียหายเกือบแสนไร่ ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ จ.อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และกรุงเทพฯ
เหตุนี้การจัดการไฟป่า และหมอกควัน จะทำเฉพาะภาคใดภาคหนึ่งไม่ได้ต้องมองภาพรวม ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่า ปัญหาไฟป่ามักเกิดจากการขาดการจัดการ วางแผนควบคุมที่ดี จึงไม่อยากให้มองว่า “ไฟเป็นตัวร้ายทำลายอย่างเดียว” เพราะเมื่อเกิดไฟป่าก็จะเกิดยอดอ่อน และเกิดไม้พื้นล่าง
...
ทำให้ระบบนิเวศโครงสร้างของป่ากลับมาเป็นเหมือนเดิม “อันเป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่า และคนในชุมชน” เพราะถ้าดูวงจรป่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. จะเป็นช่วงฤดูลม “พืช” จะปล่อยใบลงมาเป็น เชื้อเพลิงจนเกิดไฟ และเดือน พ.ค.-ก.ค. ก็จะเกิดดอกกระเจียว เห็ด สิ่งนี้เป็นวงจรชีวิตคนกับป่าที่อยู่ร่วมกันสร้างมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
ในทางกลับกันหาก “ป่าไม่เคยมีไฟเลยจะเกิดการสะสมเชื้อเพลิง” ถ้าบริหารจัดการไม่ดีในช่วงฤดูไฟจะก่อเกิดไฟป่าที่ยากจะควบคุมจนเป็นมหันตภัยต่อป่าอนุรักษ์ ทั้งยังส่งผลต่อสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงเกิดการแย่งชิงพันธุ์ไม้ในบริเวณอื่น ทำให้สัตว์ป่าเคลื่อนย้ายหาแหล่งอาหารอื่นและอาจกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน
ดังนั้น ปัญหาไฟป่าไม่ใช่เป็นเรื่องตัวไฟ “หากแต่ขาดการจัดการที่ดี” อย่างไฟป่าเชียงดาวในปี 2562 คราวนั้นเป็นครั้งแรกที่เกิดไฟป่าลามจากด้านล่างขึ้นไปถึงยอดดอยหลวง เหตุนี้ทำให้ในปี 2566 ป่าลดลง 3 แสนกว่าไร่ สูงสุดในรอบ 10 ปี มีปัจจัยจากไฟป่า สูญเสียระบบนิเวศ และมีการใช้ประโยชน์จากประชาชน
ปัจจัยนี้กระทบต่อ จ.เชียงใหม่ เผชิญฝุ่นควันหนักกว่าที่อื่น ดร.สุดเขต สกุลทอง ม.แม่โจ้ บอกว่า การเผาป่าในภาคเหนือมีมานาน ส่วนใหญ่เป็นการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรเหลือทิ้งบนที่สูง “รถไถ ขึ้นไปฝังกลบไม่ได้” เกษตรกรจึงต้องเผา เพียงแต่ จ.เชียงใหม่ มีภูเขา ล้อมรอบเป็นแอ่งกระทะ และภูมิอากาศมีความกดอากาศสูง
ฝุ่นควันไม่อาจลอยตัวขึ้นพ้นชั้นบรรยากาศ แล้วแต่ละปี จ.เชียงใหม่ ก็มีเศษวัสดุทางการเกษตรเหลือทิ้งกว่า 1.1 ล้านตัน ทั้งกิ่งลำไย มะม่วง ข้าว ข้าวโพด บางส่วนนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยหมัก หรือทำเป็นอาหารสัตว์ แต่พอถึงเวลาใช้พื้นที่ทำเกษตรรอบใหม่ “มักจะใช้วิธีเผาเช่นเดิม” ทำให้ จ.เชียงใหม่ ต้องเผชิญฝุ่นควันหนักกว่าที่อื่น
จนต้องมีมาตรการขออนุญาตเผาผ่าน “แอปพลิเคชันไฟดี” ที่จะอนุญาตให้เฉพาะสภาพอากาศมีความชื้นอยู่ แล้วจะห้ามเผาในช่วงฤดูแล้งโดยเด็ดขาด เพราะจะก่อเกิดฝุ่นควันกระจายไกลควบคุมได้ยาก
ไม่เท่านั้นยัง “ตั้งคณะกรรมการจัดการเศษวัสดุการเกษตรเหลือทิ้ง 1.1 ล้านตัน” ผลักดันให้เกิดจุดรับซื้อเศษไม้ เปลือก ใบ ลำต้น ซังข้าวโพด ชีวมวลอัดแท่งต่างๆ เริ่มต้นตันละ 600 บาทขึ้นอยู่กับคุณภาพความชื้น
สิ่งนี้คือ “ขยะทองคำ” อันเกิดจากภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมมือกัน “จัดตั้งค่าหัวรับซื้อเศษวัสดุการเกษตร” นำมาแปรรูปให้เป็นพลังงานรุ่นใหม่ “เพิ่มมูลค่า” เพราะหากห้ามเผาเลยอาจจะขัดวิถีชีวิตของคนในพื้นที่
“ส่วนหมอกควันข้ามพรมแดนจากเมียนมาตอนนี้ไม่ได้มีแค่การ เผาเศษวัสดุการเกษตรเท่านั้น แต่ยังมีการเผาป่าเชิงยุทธวิถีของกองกำลัง ชนกลุ่มน้อยขับไล่ทหารฝ่ายรัฐบาลที่จะเข้ามากวาดล้างอันเกี่ยวข้องกับ การสู้รบกันในหลายกลุ่มตามแนวชายแดนเมียนมา ทำให้ฮอตสปอตปรากฏจุดความร้อนเกิดขึ้นตลอดทั้งปี” ดร.สุดเขตว่า
ขณะที่ ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา อาจารย์จาก ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา บอกว่า ในปี ค.ศ.2021-2022 ประเทศไทยมีคุณภาพ อากาศแย่อันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากเจาะลึก จะพบ “การปล่อยฝุ่น PM 2.5” ในช่วงฤดูหมอกมักมาจาก “เมียนมา” แล้วบางส่วนเคลื่อนตัวมาจาก “อินเดีย” ด้วยก็มี
ทั้งเอลนีโญ และลานีญาก็ยังสัมพันธ์กับ PM 2.5 โดยเฉพาะปีเอลนีโญมักมีฝุ่นพิษเกิดขึ้นมาก สิ่งนี้เป็นการศึกษาแหล่งกำเนิดแตกต่างกันจนการจัดการหมอกควันไม่สำเร็จนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ “สิ่งแวดล้อม” ในจีนมีรายงานคนรวยปล่อย PM 2.5 มากกว่าคนจน จาก “อาหารและที่อยู่อาศัย” แต่คนจนต้องเจอความเสี่ยงมากกว่า
ทั้งยังมี “ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่” โดยอาชีพคนกวาดถนน ในกรุงเทพฯ มักจะเสี่ยงต่อ PM 2.5 สูงกว่าอาชีพอื่น “ความเหลื่อมล้ำด้านความรู้” คนเมืองมีโอกาสรับรู้ฝุ่นละอองได้มากกว่าคนบนดอย “ความเหลื่อมล้ำรายได้” ที่ประชาชนต้องซื้ออากาศสะอาดเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นกับดักรายได้ระหว่างคนจนและคนรวยที่มีศักยภาพต่างกัน
ป่าชุมชนฉบับใหม่เข้ามาจัดการไฟป่าล้มเหลว เดโช ไชยทัพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บอกว่า ในปี 2547 กรมป่าไม้ถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลควบคุมไฟป่า 2,368 แห่งทั่วประเทศราว 50 ล้านไร่ แต่บางหน่วยกลับไม่มีแผนงาน หรือ ภารกิจใดๆ กลายเป็นการถ่ายโอนภารกิจไปปฏิบัติไม่ได้อย่างที่ควรเป็น
ทำให้ปีนี้ได้งบอุดหนุนมา 50 ล้านบาท เฉลี่ยเท่ากับไร่ละ 1 บาทเท่านั้น ในปี 2568 ได้งบอุดหนุนมา 100 ล้านบาท เฉลี่ยไร่ละ 2 บาท ทำให้เป็นหลุมดำต่อการบริหารจัดการไฟป่าที่ยังเป็นเรื่องห่างความเป็นจริง
ประการถัดมา “ป่าชุมชน” ปัจจุบันมีป่าชุมชน 12,000 กว่าหมู่บ้าน หรือ 7 ล้านกว่าไร่ แต่สาระสำคัญในการจัดทำแผนการจัดการ ไฟป่าไปอยู่ที่คณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัดแล้วใน 1 ปี มีการประชุม 2 ครั้ง ทำให้เป็นอุปสรรคที่จะปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนป่าชุมชน เพื่อตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาไฟป่าให้มีประสิทธิภาพ
สุดท้ายคือ “การแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่า” แม้มีนโยบาย และกฎหมายออกมาแต่ในทางปฏิบัติยังมีความล่าช้า ส่งผลให้เกษตรกร ปลูกพืชเชิงเดี่ยว หวังผลกำไรระยะสั้น “ไม่ต้องเสี่ยง” ทำให้พื้นที่การเกษตรในภาคเหนือกลายเป็นการปลูกข้าวโพด ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาสิทธิที่ดินเร็วได้จะตอบสนองเรื่องสิทธิ และคุณภาพชีวิต
ทั้งหมดนี้เป็นการระดมความคิดจาก “นักวิชาการ” สะท้อนผ่านเวทีปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 สร้างความเข้าใจ สู่การแก้ไขอย่างยั่งยืนของสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรับรู้อย่างเข้าใจถึงต้นตอปัญหาอันจะนำไปสู่แนวทางแก้ไขได้ตรงจุด ถูกต้อง และยั่งยืนต่อไป.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม