สถานการณ์ "พะยูนไทย" น่าเป็นห่วง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานพบเกยตื้น 8 ตัว ภายในเดือนตุลาคม 67 พร้อมขอความร่วมมือเพิ่มความระมัดระวังในการขับเรือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 20.45 น. วันที่ 26 ต.ค. 67 เจ้าหน้าที่ประมงและกลุ่มสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบซากพะยูนตายถูกคลื่นซัดมาติดซอกหินบริเวณใกล้หาดกะรน อ.เมืองภูเก็ต หลังจากรับแจ้งจึงรุดไปตรวจสอบ เพื่อนำกลับมายังศูนย์เพื่อจะผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตาย
เบื้องต้นเป็นพะยูนเพศผู้ ความยาว 2 เมตร น้ำหนักราว 110 กก. ตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 24 วัน ซึ่งการพบพะยูนตายในครั้งนี้นับว่าเป็นพะยูนตัวที่ 3 ในรอบเดือน ต.ค. 67 ซึ่งไม่เคยพบปรากฏการณ์การตายของพะยูนเช่นนี้มาก่อน ซึ่งถือว่าเข้าขั้นวิกฤตหนัก และน่าเป็นห่วงการสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก
ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุการเกยตื้นของพะยูนใน เดือน ต.ค. 67 (1-24 ต.ค.67) จำนวนทั้งสิ้น 8 ตัว โดยแบ่งเป็นเกยตื้น มีชีวิตจำนวน 1 ตัว ที่จังหวัดตรัง ซึ่งเสียชีวิตในวันต่อมา และตายซากเกยตื้นจำนวน 7 ตัว ประกอบด้วย ซากสด 1 ตัว และซากเน่า 6 ตัว
โดยจังหวัดที่พบการเกยตื้น ได้แก่ จ.ภูเก็ต 2 ตัว จ.กระบี่ 1 ตัว จ.ตรัง 2 ตัว และ จ.สตูล 3 ตัว จากการชันสูตรพบว่าเป็นพะยูนเพศผู้ 4 ตัว และเพศเมีย 4 ตัว โดยส่วนใหญ่เป็นพะยูนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น (5 ตัว) รองลงมาคือ ตัวโตเต็มวัย (3 ตัว) เนื่องจากซากที่เกยตื้นอยู่ในสภาพซากที่เน่ามาก ทำให้ไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้ครบทุกตัว สาเหตุการตายที่สามารถระบุได้ส่วนมากเกิดจากอาการป่วยจำนวน 3 ตัว และสงสัยติดเครื่องมือประมง 1 ตัว เนื่องจากมีรอยเชือกรัดบริเวณลำตัว ในพะยูนที่เกยตื้นจากอาการป่วย พบว่าร่างกายผอม ไม่พบอาหารในทางเดินอาหารหรือพบเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจจะมีผลมาจากสภาวะการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลในแหล่งอาศัย
...
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรม ทช. ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งดำเนินการส่งนักวิชาการ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เฝ้าระวังและสำรวจประชากรพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงแหล่งหญ้าทะเลตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามันเพิ่มเติม เพื่อติดตามสถานการณ์ในภาพรวมของจำนวนประชากร และการแพร่กระจายของพะยูนทั้งหมด เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลและกำหนดแนวทาง มาตรการ ในการอนุรักษ์และดูแลพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก
นอกจากนี้ ทช. ขอความร่วมมือเรือนำเที่ยวและเรือประมงในพื้นที่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับเรือ ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับสัตว์ทะเลดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ สามารถแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทะเลชายฝั่ง รวมถึงสัตว์ทะเลหายากได้ตลอดที่สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362