"อาจารย์สนธิ" นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม อธิบายการเกิดภาวะ Rain bomb หรือ ระเบิดฝนถล่มพะเยา มีโอกาสเกิดอีกในหลายพื้นที่ ทำน้ำท่วมหนักมาก ทั้งที่ไม่ได้มีพายุเข้า

วันที่ 19 กันยายน 2567 จากกรณีที่ได้เกิดน้ำป่าไหลหลาก จากลำน้ำลำห้วยเกี๋ยง ลำน้ำหม้อแกงทอง ต.แม่กา จ.พะเยา ไหลทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านชุมชนหอพัก ถนนบ้านเรือน บ้านแม่กาห้วยเคียน บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ฝั่งตะวันตก หมู่ 16 ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา ได้สร้างความเสียหายให้กับชุมชน หอพัก บ้านเรือน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ของนักศึกษา และชาวบ้าน ดังที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ระบุว่า Rain bomb ถล่ม จ.พะเยา

1. ร่องมรสุมความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับสภาวะโลกร้อนขึ้นและปรากฏการณ์ลานีญากำลังปานกลางทำให้น้ำบนผิวโลกและทะเลถูกระเหยขึ้นเป็นไอน้ำสะสมในบรรยากาศในปริมาณมาก และไปรวมกับแถบของไอน้ำหรือแม่น้ำในบรรยากาศ (Atmospheric River) ที่พาดผ่านจับตัวกันเป็นเมฆฝนบนท้องฟ้ากระจัดกระจายทั่วไปในร่องมรสุมที่พาดผ่าน

เมื่อลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน จะพัดพาเมฆฝนมารวมกันเป็นกลุ่มที่ร่องมรสุม อากาศเย็นปะทะความชื้น ทำให้เกิดฝนตกหนักมาก (Heavy rainfall) ถึง 106.5 มิลลิเมตร เหมือนระเบิดฝน หรือ Rain bomb โดยตกแค่ประมาณ 4 ชั่วโมง ตกลงในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ และอำเภอเมือง เกิดเป็นน้ำป่าจากดอยโตน น้ำห้วยเกี๋ยง แม่กาหลวง แม่กาไร่ และไหลลงสู่กว๊านพะเยา เกิดน้ำท่วมหนักสูงเกือบ 2 เมตร ในมหาวิทยาลัยพะเยา และพื้นที่ใกล้เคียง

...

2. ภาวะ Rain bomb หรือ ฝนตกกระหน่ำอย่างหนักในพื้นที่บางแห่ง (ไม่ตกกระจัดกระจายในวงกว้าง) แบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นอีกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่มีร่องมรสุมความกดอากาศต่ำพาดผ่าน หากเกิดปะทะกับแถบของไอน้ำหรือแม่น้ำในบรรยากาศที่พาดผ่านมาพอดี อาจทำให้เกิดระเบิดฝนได้ ทำให้เกิดความเสียหายน้ำท่วมหนักมาก ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีพายุเข้า.

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat