"อ.สนธิ" นักวิชาการเผยสาเหตุน้ำท่วมเชียงราย หนักสุดรอบ 40 ปี พร้อมถอดบทเรียนราคาแพง บอกถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไข ทั้งเรื่องการแจ้งเตือน และแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน
จากสถานการณ์น้ำท่วมตลาดชายแดนแม่สาย จ.เชียงราย วิกฤติหนัก ระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร ชาวบ้านหนีไปขึ้นอยู่บนหลังคารอคอยเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยออกมา ท่ามกลางน้ำไหลเชี่ยว ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ เกิดเหตุสลดดินภูเขาถล่มบนอุทยานแห่งชาติดอยห่มปก บ้านดอยแหลม ต.แม่อาย อ.แม่อาย ฝังชาวบ้านจมโคลน 5 ศพ สูญหายอีก 1 คน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Sonthi Kotchawat" ระบุ สาเหตุที่น้ำท่วมหนักที่อำเภอแม่สาย และท่าขี้เหล็ก ว่า พายุยางิอ่อนกำลังลง ทำให้เกิดกลุ่มเมฆฝนหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมพื้นที่ รวมทั้งมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาว ขณะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันพัดเอาความชื้นและพามวลอากาศเย็นเข้ามาปะทะ ทำให้เกิดฝนตกหนักที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน น้ำท่วมหนัก น้ำไหลลงแม่น้ำแม่สาย และแม่น้ำรวก ไหลลงแม่น้ำโขงที่ ต.สบรวก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แต่แม่น้ำโขงเต็มตลิ่งและฝนตกหนัก จึงทำให้เกิดน้ำท่วมหนักมากทั้งที่ อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน คาดว่าช่วงวันที่ 14 ถึง 16 กันยายน 67 พื้นที่ดังกล่าวจะมีฝนตกหนักถึง 80%
นอกจากนี้ อ.สนธิ ยังแนะด้วยว่า เหตุการณ์ที่แม่สาย และแม่อาย เป็นบทเรียนราคาแพงที่ต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจาก
1. ฝนตกหนักมากจากอิทธิพลของพายุยางิ ขณะที่มีร่องมรสุมความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ทำให้อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย น้ำท่วมหนักเสียหายมากที่สุดในรอบ 40 ปี มากกว่าปี 65 และที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เกิดดินถล่มจากภูเขาทับบ้านเรือนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน
...
2. บทเรียนราคาแพงที่ทำให้เกิดวิปโยค ที่แม่สายและแม่อายสะอื้นในครั้งนี้คืออะไร
2.1. ขาดแผนการเตือนภัยที่ชัดเจน กรมอุตุนิยมวิทยา และ สทนช. ได้แจ้งเตือนว่าจะเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ในช่วงวันที่ 8 ถึงวันที่ 13 กันยายน จะเกิดน้ำท่วมไหลหลากและดินถล่ม แต่การเตือนภัยดังกล่าวอาจลงไปไม่ถึงประชาชนในระดับรากหญ้า และการเตือนภัยดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุถึงความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ทั้งยังไม่ได้ระบุถึงสถานที่ที่เฉพาะเจาะจงว่า น้ำจะท่วมหนักเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง บอกแต่เพียงกว้างๆ ว่าจะเกิดที่ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น ทำให้ประชาชนที่ได้รับข่าวสารในพื้นที่ไม่สนใจเท่าที่ควร เพราะทุกปีน้ำก็ท่วมประจำอยู่แล้วไม่ได้หนักหนาอะไร
2.2. ขาดการสื่อสารความเสี่ยงที่ให้ประชาชนเกิดความตระหนัก ที่ผ่านมาใช้ช่องสื่อสารทางทีวี วิทยุ เฟซบุ๊ก โดยใช้ภาษาทางวิชาการที่ยากจะเข้าใจทำให้ประชาชนระดับรากหญ้าไม่ค่อยสนใจเท่าที่ควร
การสื่อสารหลังจากที่มีการคาดการณ์ว่า น้ำจะท่วมอย่างรุนแรงที่ไหนบ้าง ควรให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อปท. สื่อสารถึงตัวประชาชนโดยตรงโดยต้องระบุให้ชัดเจนว่า สถานการณ์จะเกิดรุนแรงในระดับใด ที่ไหน จะต้องเก็บข้าวของขึ้นที่สูง หรือต้องอพยพออกมาและไปพักที่จุดใดบ้าง เป็นต้น โดยทั่วไปผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ ต้องเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ หรือเป็น commander สั่งการให้ดำเนินการทันที ยิ่งในต่างประเทศจะมีการใช้ระบบ SMS สื่อสารเตือนภัย โดยส่งเข้าไปในระบบโทรศัพท์มือถือของคนที่อาศัยในพื้นที่โดยตรง เป็นต้น
แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้การเตรียมความพร้อมและยังไม่มีมาตรการป้องกันวิกฤติดังกล่าวเลย ต้องรอให้เกิดวิกฤติก่อน จึงจะประกาศให้พื้นที่เป็นเขตภัยพิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อนำงบประมาณออกมาแก้ไขและเยียวยาได้ ดังนั้น ตามกฎหมายจึงมีแต่เพียงมาตรการบรรเทาทุกข์แต่ไม่มีมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า
2.3. ขาดแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ดินถล่ม ราชการจะต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเพื่อนำงบประมาณออกมาใช้บรรเทาทุกข์ให้ประชาชนได้ ซึ่งทำได้ล่าช้ามากเนื่องจากติดที่ระบบราชการ ต้องมีหนังสือเป็นทางการส่งออกไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร? ต้องมีเวลาในการเตรียมอุปกรณ์และกำลังคน
กรณีน้ำท่วมที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประชาชนจำนวนมากติดอยู่บนหลังคา และติดอยู่ในบ้านเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 วัน โดยหน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของมูลนิธิ, จิตอาสา, สมาคม และภาคประชาสังคม ส่วนหน่วยราชการยังล่าช้าอยู่เพราะติดระบบราชการ ยกเว้นหน่วยทหารที่สั่งการและออกปฏิบัติงานได้ทันที.
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat