ชาวบ้านประชุมด่วน ประเด็นร้อนพิธีฆ่าหมาบูชาผี จ.น่าน ใช้สัตว์เป็นเครื่องสังเวย สืบทอดกว่า 100 ปี ได้ข้อสรุปเลื่อนทำพิธีออกไปก่อน และจะไม่ใช้สุนัขทำพิธี

วันที่ 9 กันยายน 2567 มีรายงานว่า จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ข้อความอ้างว่า ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน จ.น่าน ได้จัดเตรียมทำพิธีฆ่าหมาบูชาผี ซึ่งสุนัขตัวดังกล่าวเป็นของพี่ชายที่เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์ โดยพิธีดังกล่าวมีกำหนดการจะทำพิธีในวันที่ 8 กันยายน 2567

จากการตรวจสอบหมู่บ้านดังกล่าวใน อ.สองแคว จ.น่าน พบว่า เป็นหมู่บ้านของชาวขมุ กลางชุมชนจะมีศาลาไม้ เป็นสถานที่ใช้ทำพิธี "สะโหลก" ก่อนจะทำพิธีจะต้องไหว้ศาลหมู่บ้าน

นางหวี แม่ของผู้โพสต์ เปิดเผยว่า ลูกเป็นคนรักสัตว์ ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยฆ่าสัตว์ และ "เจ้าแดง" ก็เป็นสุนัขที่เลี้ยงไว้และลูกรักมาก ประกอบกับลูกเป็นคนรุ่นใหม่ จึงไม่ค่อยเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณี จึงนำเรื่องไปโพสต์จนสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน หลังเกิดเรื่อง ลูกชายได้เข้าร่วมประชุมกับทางหมู่บ้านและผู้นำชุมชน มีการพูดคุยปรับความเข้าใจกันเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งขอโทษชาวบ้านที่ทำให้เดือดร้อน และลูกจะกลับไปอยู่บ้านภรรยาที่ จ.ลำปาง สำหรับพิธี "สะโหลก" เป็นความเชื่อที่มีมาเป็น 100 ปีแล้ว และครั้งนี้ก็ยกเลิกแล้ว ไม่ใช้หมาแล้ว

...

ตัน แก้วแดง อาจารย์ผู้นำในการทำพิธี กล่าวว่า พิธีสะโหลก เป็นพิธีที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษเป็น 100 ปี หรือเรียกว่า พิธีเลี้ยงผีประจำปี ส่วนใหญ่จะใช้แพะหรือไก่มาเป็นเครื่องสังเวย บางครั้งก็ใช้หมู ส่วนสุนัขก็มีบ้างแต่น้อยและไม่ได้ใช้มาหลายปีแล้ว หากเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะใช้ แพะ หรือ ไก่

ส่วนการเลือกสัตว์มาเป็นเครื่องสังเวยนั้น ขึ้นอยู่กับคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนเป็นคนเลือก โดยมีปัจจัยว่าในปีนั้น ๆ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อย่างเช่นปีนี้ ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีคนในหมู่บ้านตายโหง หรือตายผิดธรรมชาติ 2 ราย ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นพี่ชายของเจ้าของโพสต์ ตามความเชื่อมองว่าเป็นเรื่องหนักและกลัวว่าจะมีชาวบ้านเสียชีวิตอีก จึงลงความเห็นว่าปีนี้จะใช้สุนัขเป็นเครื่องสังเวย ซึ่งพิธีนี้เป็นความเชื่อของคนในชุมชนที่ทำต่อเนื่องทุกปี มีความเชื่อว่า ทำบุญกับผี ผีจะคุ้มครอง

ผู้ใหญ่บ้าน ชี้แจงว่า เรื่องที่จะนำสุนัขมาใช้ทำพิธี เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการหารือ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะใช้จริงหรือไม่ ก็เกิดเรื่องขึ้นก่อน ทางชุมชนจึงต้องเรียกประชุมด่วน ได้ข้อสรุปว่า จะไม่มีการใช้สุนัขมาทำพิธี และจะเลื่อนทำพิธีไปช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อาจจะใช้แพะ หรือ ไก่ แทน.