กรมทะเล แจ้งข่าวเศร้า "พะยูนน้อย" พลัดหลงแม่ เกยตื้นเกาะปอดะ ได้จากไปแล้ว คาดป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจากภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว
มีรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้โพสต์แถลงการณ์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เรื่อง พะยูน เกยตื้นจากเกาะปอดะ จ.กระบี่ ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567
โดยระบุข้อความว่า สืบเนื่องจาก วันที่ 10 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ว่ามีนักท่องเที่ยวพบลูกพะยูนมีชีวิตว่ายน้ำเพียงลำพัง บริเวณเกาะปอดะ ต.อ่าวนาง จ.กระบี่ ตรวจสอบพบว่าลูกพะยูนตัวดังกล่าวมีปัญหาการทรงตัวและพลัดหลงจากแม่ จึงจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทางเจ้าหน้าที่ ศวอล. จึงได้ประสานกับทางอุทยานฯ ในการเข้าพื้นที่ช่วยเหลือเบื้องต้นและขนย้ายมายังที่ทำการอุทยานฯ
จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเป็นพะยูนเพศผู้วัยเด็ก คาดว่าอายุประมาณ 2-4 เดือน โดยมีความยาว 102 ซม. น้ำหนัก 13.8 กก. การตรวจร่างกายพบว่าพะยูนอ่อนแรงแต่ยังสามารถขึ้นหายใจได้ พบรอยขีดข่วนบริเวณส่วนจมูกและหัวเล็กน้อย ความสมบูรณ์ของร่างกายค่อนข้างผอม (BCS=2/5) บริเวณตาซ้ายขุ่นและตาจมลึก ซึ่งแสดงว่าพะยูนมีภาวะขาดน้ำ เสียงปอดขึ้นเล็กน้อย ลำไส้มีการบีบตัว และพะยูนยังมีความอยากอาหารอยู่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ ศวอล. ได้ขนย้ายพะยูนตัวดังกล่าวมาอนุบาลในสระน้ำขนาดความจุน้ำ 50 ตัน ที่สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปวิเคราะห์ทางโลหิตวิทยา
...
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีค่ากลูโคสในกระแสเลือดต่ำ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยสัตวแพทย์ได้ป้อนนมทดแทนและน้ำ เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ และทางสัตวแพทย์ได้ตรวจสุขภาพอย่างละเอียด พร้อมทั้งปรับสัดส่วนของอาหารทดแทนนมเพื่อให้เหมาะสมต่อความต้องการโภชนาการของลูกพะยูนโดยให้นมทดแทนสำหรับลูกสัตว์และอิเล็กโทรไลต์ทางการสอดท่อทุก 3-4 ชั่วโมง
ต่อมาในวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ลูกพะยูนแสดงอาการซึม ลอยตัวนิ่ง เวลา 21.30 น. ลูกพะยูนแสดงอาการหายใจถี่ขึ้น มีอาการหายใจลำบาก และจมตัวลงพื้นบ่อไม่สามารถทรงตัวได้ ทีมสัตวแพทย์จึงรีบพยุงตัวสัตว์ขึ้นเหนือน้ำและติดตามสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด อัตราการหายใจเฉลี่ย 15-20 ครั้งต่อ 5 นาที การหายใจถี่และสั้น จึงให้ออกซิเจนและยากระตุ้นการหายใจ วัดหัวใจเต้นเบาลง ตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้พบว่ามีการเคลื่อนไหวช้าลง ตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด พบว่า 21 mg/dl บ่งบอกว่าลูกพะยูนมีน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำกว่าปกติอย่างรุนแรง จึงได้ทำการให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดและทางการป้อน ให้ยาลดปวดเพื่อพยุงอาการ
จนถึงเวลา 06.18 น. ในวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ลูกพะยูนแสดงอาการชักเกร็ง สีเยื่อเมือกซีด หายใจช้าลงผิดปกติ การเต้นของหัวใจเบาลงและการตอบสนองช้าลง จนหยุดนิ่งและเสียชีวิตในที่สุด จากการชันสูตรซากลูกพะยูน พบว่าเนื้อเยื่อปอดมีเลือดคั่ง และพบลิ่มเลือดอุดตันภายในหลอดลมและแขนงหลอดลมปริมาณมาก บริเวณผนังช่องท้องพบลิ่มเลือดกระจายเป็นหย่อมๆ
ส่วนของทางเดินอาหารพบปื้นเลือดออกบริเวณกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้นเล็กน้อย สรุปสาเหตุการตายคาดว่าป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจากภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ ศวอล. ได้ทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางจุลพยาธิวิทยา ตรวจเพาะเชื้อแบคทีเรียและไวรัสเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุการตายอย่างละเอียดต่อไป.
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง