"ลูกช้างป่าหลงทาง" ที่เจ้าหน้าที่-ชาวบ้านช่วยไว้บริเวณ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี กลับบ้านแล้ว โดยแม่ช้างได้มารับลูกกลับไปรวมโขลงอย่างปลอดภัย
จากกรณีที่ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เขาสิบห้าชั้น จ.จันทบุรี รับแจ้งพบ "ลูกช้างป่าพลัดหลง" อายุประมาณ 1-2 เดือน บริเวณบ้านคลองโป่ง หมู่ 10 ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบและดำเนินการช่วยเหลือเบื้องต้น โดยจับลูกช้างใส่กรงเพื่อความปลอดภัย รอให้แม่ช้างมารับกลับโขลง ดังที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น (เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ประสานช่วยเหลือ "ลูกช้างป่าพลัดหลง" รอให้แม่มารับกลับโขลง)
ล่าสุด ทางเพจเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ข้อความเผยว่า 26 สิงหาคม 2567 – เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ประกอบด้วย ทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว, อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น, ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่), สถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา ได้ร่วมกันช่วยเหลือลูกช้างพลัดหลงกลับคืนสู่ฝูงอย่างปลอดภัย
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้รับการรายงานจาก นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567 ที่บริเวณบ้านคลองโป่ง ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่าพบลูกช้างป่าเดินหลงทาง ทีมงานจึงได้เร่งเข้าพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ลูกช้างและติดตามหาฝูงช้างที่เหลือ
...
ตลอดทั้งคืน เจ้าหน้าที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของโขลงช้างอย่างใกล้ชิด โดยใช้เทคโนโลยีโดรนเข้าช่วยในการสำรวจพื้นที่และสังเกตพฤติกรรมของช้าง ทำให้สามารถติดตามและประเมินสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด และวางแผนการช่วยเหลือที่เหมาะสม หลังจากใช้เวลาในการวางแผนและปฏิบัติการหลายชั่วโมง
ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็สามารถนำลูกช้างกลับมายังบริเวณใกล้เคียงกับที่โขลงช้างอาศัยอยู่ และด้วยสัญชาตญาณของสัตว์ เมื่อเปิดโอกาสให้ลูกช้างส่งเสียงร้อง โขลงช้างก็ได้ตอบรับ และแม่ช้างได้เข้ามารับลูกกลับไปรวมฝูงอย่างปลอดภัย
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การช่วยเหลือลูกช้างในครั้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น เนื่องจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ชาวบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐาน และคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกช้างจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในป่าได้ตามธรรมชาติ
สำหรับผู้ที่พบเห็นสัตว์ป่าบาดเจ็บหรือพลัดหลง ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ทั้งนี้พบเห็นสัตว์ป่าพลัดหลง สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง.
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช