กรมอุตุนิยมวิทยา เผยแล้ว สาเหตุของการเกิด "น้ำท่วมหนัก" ในภาคเหนือ ปี 2567 พร้อมเตือนพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยสูง

วันที่ 26 สิงหาคม 2567 มีรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา ได้โพสต์ข้อความระบุว่า กรมอุตุนิยมวิทยา เผยสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมหนัก ในพื้นที่ภาคเหนือเดือนสิงหาคม 2567 

จากอุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนบน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของ จ.เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ช่วงเดือนสิงหาคม ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเกิดจากฝนที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. 67 และปริมาณฝนเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 17-21 ส.ค. 67 เพราะอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือ

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยในระยะนี้ มีกำลังอ่อนถึงปานกลางและมีกำลังค่อนข้างแรงเป็นบางช่วง จึงทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องได้เกือบทุกวัน และตกหนักถึงหนักมากในบางวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝนที่ตกในพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง

ทำให้มีปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเกิดเป็นน้ำท่าที่มีปริมาณมหาศาลไหลลงสู่ลุ่มน้ำหลัก และลุ่มน้ำสาขาต่างๆ อย่างรวดเร็ว แม้ขณะนี้สถานการณ์ฝนที่ตกหนักเริ่มลดลงบ้างแล้ว ในทางตอนบนของภาคเหนือ แต่ยังต้องระวังมวลน้ำที่ยังไหลในลุ่มน้ำต่างๆ ที่จะเริ่มทยอยลงมาเรื่อยๆ

การคาดหมายสภาพอากาศในช่วงสัปดาห์หน้า (26-29 ส.ค. 67) 

ต้องติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่าร่องมรสุมที่พาดผ่านทางบนของภาคเหนือ จะเริ่มเลื่อนต่ำลง มาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะมีกำลังแรงขึ้น จึงทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักในพื้นที่ของภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบน ภาคตะวันออก ภาคกลาง กทม. และปริมณฑล อีกระยะ 

...

สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก (อันดามัน) และคลื่นลมจะมีกำลังแรงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศดังกล่าว ยังคงทำให้พื้นที่ที่เคยมีน้ำท่วมขังในภาคเหนือ ยังมีความเสี่ยงเกิดอุทกภัยในระยะนี้ และพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยสูง ได้แก่

ภาคเหนือ : จ.เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ 

ภาคใต้ : จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล 

ส่วนภาคตะวันออก ได้แก่ จ.จันทบุรี และตราด คลื่นลมมีกำลังแรง ระวังคลื่นซัดฝั่ง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา