ไขคำตอบ "เมทานอล" คืออะไร ทำไมพบได้ใน "แอลกอฮอล์" พร้อมเผยอาการของภาวะเป็นพิษจากเมทานอล รุนแรงขั้นเสียชีวิตได้

จากกรณี "สำนักงานเขตคลองสามวา" ประกาศเตือนหลังมีคน "ดื่มสุราต้ม" แล้วเสียชีวิต พบป่วยอีก 19 ราย พร้อมแจ้งประชาชนกลุ่มเสี่ยง ให้เข้ารับการตรวจอาการที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยด่วน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น 

ขณะที่ หลายคนสงสัยว่า "เมทานอล คืออะไร" ทำไมพบได้ในแอลกอฮอล์ และมีพิษรุนแรงขั้นเสียชีวิตได้นั้น เฟซบุ๊ก สำนักงานเขตคลองสามวา ได้เผยว่า สารเมทานอล (methanol หรือ wood alcohol) จะเป็นแอลกอฮอล์ชนิดเชื้อเพลิง เป็นสารพิษที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ไม่ควรนำมาบริโภค แต่ที่พบเมทานอลอยู่ในเครื่องดื่มเนื่องจาก "เมทานอล" มีราคาถูกกว่า "เอทานอล" หากนำทั้ง 2 สารมาผสมกันจะทำให้ลดต้นทุนในการผลิต จึงมักพบได้ในสุราปลอม ยาดอง เหล้าขาวที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน หรือขาดความรู้ความเข้าใจในการผลิตที่ถูกต้อง

ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุราที่มีเมทานอลปนเปื้อน มักจะพบในสุราปลอม เหล้าเถื่อนที่ต้มกลั่นเอง ขนาดที่เริ่มเป็นพิษประมาณ 100 mg/kg ขนาดที่เป็นพิษรุนแรงจนผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตมักมากกว่า 60 ml ของ 40% เมทานอล ถ้าผู้ป่วยได้รับเมทานอลเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ประมาณ 95% จะถูกกำจัดที่ตับ แต่อาการของการเป็นพิษที่เกิดขึ้นจะเกิดการสะสมของกรดฟอร์มิก (formic acid) ที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (metabolic acidosis) และเป็นพิษต่อตา (ocular toxicity) ได้ 

...

ส่วนอาการของภาวะเป็นพิษจากเมทานอล หลังได้รับเมทานอล ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ถึง 3 วัน ถ้าผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอล ร่วมกับเอทานอล จะทำให้อาการเริ่มแรกช้าลงไปอีก

  • ผู้ป่วยอาจมีอาการของทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง 
  • อาการที่ค่อนข้างจำเพาะได้แก่ พิษทางตา ได้แก่ ตาพร่า ตามัว แพ้แสง เห็นภาพขาวจ้าไปหมด (snowfield vision) 
  • นอกจากนี้ยังพบอาการอื่นๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย สับสน มึนงง ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการชัก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
  • หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่ทันผู้ป่วยมักเสียชีวิต

การรักษาผู้ป่วยภาวะเป็นพิษจากเมทานอล แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการของผู้ป่วย เมทานอลจะทำให้ผู้ป่วยซึม และกดการหายใจ จึงต้องระวังเรื่องการหายใจ และต้องแก้ภาวะเลือดเป็นกรดซึ่งบางครั้งรุนแรงมาก นอกจากนี้ยังต้องแก้อาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากผู้ป่วยเพิ่งดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอลผสมอยู่ไม่นานนัก อาจพิจารณาวิธีการใส่สายเข้าไปในกระเพาะอาหารผ่านทาง รูจมูก เพื่อนำสารพิษออกจากระบบทางเดินอาหารอย่างรวดเร็ว หรือทำให้อาเจียน

นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาการรักษาโดยยาต้านพิษที่สำคัญคือการให้เอทานอลไปยับยั้งการเปลี่ยนเมทานอลเป็นกรดฟอร์มิก สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเป็นพิษในร่างกาย ดังนั้นหากไม่อยากเสี่ยงภาวะเป็นพิษจากเมทานอล ควรเลือกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ หรือถ้าจะให้ดีควรงดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ไปเลยก็จะปลอดภัย และดีต่อสุขภาพที่สุด.

ขอบคุณเฟซบุ๊ก สำนักงานเขตคลองสามวา, รพ.นพรัตนราชธานี, กรมการแพทย์, กองบังคับการตำรวจนครบาล 3