ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลฯ-เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ลงพื้นที่สำรวจ หลังมีคนพบ "พะยูน" บริเวณสะพานราไวย์ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกภาพได้

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 จากกรณีที่ เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต ได้โพสต์คลิปการพบพะยูน บริเวณท่าเทียบเรือราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ความยาวประมาณ 40 วินาที ขณะกำลังดำผุดดำว่ายอยู่ในทะเล โดยเห็นตั้งแต่ช่วงหัวเรื่อยไปถึงบริเวณหลังและลำตัว 

ทำให้ต่อมา ได้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น ด้วยความดีใจและตื่นเต้นเป็นจำนวนมาก อาทิ เป็นครั้งแรกที่เคยเห็นตัวเป็นๆ ใน จ.ภูเก็ต, ต้องช่วยกันดูแล, มายังไงครับ มากี่ตัว ช่วยกันดูแลน้องด้วยครับ, มาหากินหญ้าอ่าวฉลองแน่เลย ฯลฯ ทั้งยังบอกอีกว่า เบื้องต้นคาดว่าพะยูน มีความยาวราว 1.5-1.8 เมตร

ด้าน ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า สะพานราไวย์อยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดภูเก็ต ภาพถ่ายเมื่อสี่ปีที่แล้ว พบมีหญ้าชะเงาใบมนขึ้นเป็นหย่อม พื้นที่นี้ไม่เคยพบพะยูนมาก่อน แต่วันนี้เราพบน้องมาแล้ว เป็นภาพวิดีโอพะยูนเต็มวัยที่ถ่ายจากบริเวณสะพานราไวย์

พะยูนที่พบน่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์หญ้าทะเลตรัง ที่เสื่อมโทรม พะยูนจำนวนมากที่นั่นหายไป โดยคาดว่าเป็นการย้ายถิ่นไปหาแหล่งหญ้าอื่น ที่น่าเป็นห่วงคือ พะยูนจะยังไม่คุ้นเคยกับภัยคุกคามในที่ใหม่ เป็นผลให้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีพะยูนเสียชีวิตจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ และการโดนใบจักรเรือจำนวนหลายตัว จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือในการป้องกัน และเฝ้าระวังจากชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ ในการดูแลร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

...

ต่อมาก็พบว่า ก็มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นว่า "สมัยก่อนราไวย์สมบูรณ์ มีหญ้าทะเลและสาหร่ายทะเลหลายแบบ ตั้งแต่ท่าเรืออ่าวฉลอง หาดมิตรภาพ แหลมกาน้อย แหลมกาใหญ่ หาดราไวย์ มุมปากบาง มีกลุ่มปะการังอีกเป็นดง ถ้ามีเรือและคนเดินเก็บมากเกินไป ก็ทำลายไปมาก เรือที่จอดริมชายหาดควรสร้างท่าเรือให้จอดเรือไว้ทั้งหมด เพื่อชายหาดได้เล่นน้ำ และกำหนดเขตน้ำลึกที่อันตราย แต่เป็นแหล่งเพาะพันธ์ุสัตว์น้ำ"

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพิ่มเติมว่า การพบพะยูนตัวเป็นๆ บริเวณสะพานราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกคลิปไว้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีแต่คำบอกเล่าว่าพบเท่านั้น แต่ไม่มีหลักฐาน หรือข้อมูลที่แท้จริง

ทำให้หน่วยงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเล เช่น กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต ต่างตื่นเต้นและให้ความสนใจกับการพบพะยูนในครั้งนี้เป็นอย่างมาก โดยได้นำเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ลงพื้นที่บริเวณที่พบพะยูนแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวว่า เหตุถึงได้มีพะยูนว่ายเข้ามาหากิน โดยถือว่าเป็นมิติใหม่ของวงการการพบสัตว์ทะเลหายากเป็นครั้งแรก ในพื้นที่ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต, Kongkiat Kittiwatanawong