พบผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิง สายพันธุ์ย่อยเคลด 1 ในสวีเดน สายพันธุ์เดียวกับที่แพร่ระบาดในคองโกที่มีความรุนแรงสูงสุด ถือเป็นผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิงนอกทวีปแอฟริการายแรกและผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว เช่นเดียวกับปากีสถานพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอ็มพอกซ์ 1 ราย เป็นผู้เดินทางกลับจากตะวันออกกลาง อธิบดีกรมควบคุมโรคไม่อยากให้คนไทยตระหนกเกินไป เพราะมีการเฝ้าระวังทุกด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

โลกเตรียมรับมือโรค “ฝีดาษลิง” ที่กำลังแพร่กระจายในหลายประเทศ โดยเมื่อวันที่ 16 ส.ค. กระทรวงกิจการสังคมและสาธารณสุขสวีเดนแถลงยืนยัน พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอ็มพอกซ์ หรือฝีดาษลิงสายพันธุ์ย่อยเคลด 1 บี สายพันธุ์เดียวกับที่แพร่ระบาดในประเทศคองโกที่มีความรุนแรงสูงสุด ถือเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสดังกล่าวนอกทวีปแอฟริการายแรก โดยติดเชื้อระหว่างการเยือนพื้นที่ส่วนหนึ่งของแอฟริกา ที่มีการระบาดครั้งใหญ่ของเอ็มพอกซ์ เคลด 1 ขณะนี้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงสตอกโฮล์มและกระทรวงยืนยันว่าสวีเดนมีความพร้อมในการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยโรคนี้อย่างปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยงต่อประชาชนทั่วไป

ศาสตราจารย์ลอว์เรนซ์ กอสติน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ ให้ความเห็นและกังวลว่า การพบผู้ป่วยในทวีปยุโรปอาจกระตุ้นให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อเอ็มพอกซ์ในระดับนานาชาติอย่างรวดเร็ว การพบผู้ป่วยในสวีเดนน่าจะเป็นการบ่งชี้ได้ว่า อาจมีผู้ป่วยที่ยังตรวจไม่พบในยุโรปหลายสิบคน ส่วน ดร.ไบรอัน เฟอร์กูสัน จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ มองว่าเป็นเรื่องน่ากังวลแม้จะไม่น่าแปลกใจ ขณะที่ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ แถลงยังไม่พบผู้ติดเชื้อดังกล่าวในสหรัฐฯ แต่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนจีนประกาศจะเฝ้าสังเกตผู้คน ยานพาหนะ ตู้คอนเทนเนอร์กับสินค้าที่เข้าประเทศเพื่อตรวจหาเชื้อดังกล่าว

...

ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หลังสถานการณ์การติดเชื้อในทวีปแอฟริกาใต้น่ากังวลมาก มีการแพร่ระบาดลุกลามข้ามพรมแดนจากคองโกไปยังประเทศที่ไม่เคยพบผู้ติดเชื้อชนิดนี้มาก่อน อย่างในรวันดา บุรุนดี ยูกันดา เคนยา ปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วย 27,000 ราย เสียชีวิตกว่า 1,100 ราย นับแต่เริ่มการระบาดในเดือน ม.ค.2566 ส่วนใหญ่เป็นเด็กในคองโกและสายพันธุ์ย่อยเคลด 1 บีที่แพร่กระจายได้ง่ายกว่า มีแนวโน้มก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงกว่า ขณะที่ปี 2567 องค์การอนามัยโลกเคยประกาศให้การระบาดของเอ็มพอกซ์หรือฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก มีผู้ป่วยกว่า 95,000 รายใน 115 ประเทศ

วันเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขปากีสถานแถลงยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอ็มพอกซ์อย่างน้อย 1 ราย เป็นผู้เดินทางกลับจากประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ไม่ยืนยันว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ อยู่ระหว่างตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเชื้อ หลังจากนายซาลิม ข่าน ผอ.ใหญ่ฝ่ายบริการสุขภาพของจังหวัดไคเบอร์ปักตุนควา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน เผยว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอ็มพอกซ์ 3 รายในจังหวัด เป็นผู้กลับมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่อมามีการปรับลดยอดผู้ป่วยเหลือ 1 ราย เป็นผู้เดินทางกลับจากซาอุดีอาระเบีย และถอนแถลงการณ์ที่ว่ามีผู้ติดเชื้อ 3 ราย

ส่วนความเคลื่อนไหวที่ไทย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนตระหนกจนเกินไปหลังมีข่าวพบฝีดาษลิงสายพันธุ์ Claude 1b ที่สวีเดน เพราะไทยมีมาตรการทุกด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด่านท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา ดำเนินการ ดังนี้ 1.ให้ลงทะเบียน Health Declaration เพื่อการควบคุมโรค ต้องมีที่อยู่การเดินทาง สถานที่ติดต่อระหว่างอยู่ในไทย 2. ประชา สัมพันธ์แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงใน 4 ภาษา คือไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน บริเวณด่านคัดกรอง รวมทั้งคิวอาร์โค้ดรายงานอาการเจ็บป่วยของตนเอง 3.วัดอุณหภูมิร่างกาย 4.หากพบผู้เดินทางมีผื่นหรืออาการคล้ายโรคฝีดาษวานรจะแยกไว้ในห้องแยกโรคและเก็บตัวอย่างจากผื่นจากคอหอย ส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการหากผลตรวจพบเป็นโรคฝีดาษวานรจะส่งไปรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร 6.กรณีพบผู้เดินทางมีผื่นชัดเจนที่ด่านหรือสนามบิน ให้พามาตรวจสอบอาการที่ด่านควบคุมโรคติดต่อฯทันที ส่วนจะเพิ่มการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศสวีเดนหรือประเทศแถบยุโรปต้องขอดูข้อมูลก่อน ทั้งนี้กรมได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่