ทำความรู้จัก "สอบภาค ก." ด่านแรกสู่การเป็นข้าราชการ พร้อม 3 วิชาหลักต้องรู้ มีชัยไปกว่าครึ่ง

ใครที่ใฝ่ฝันอยากทำงานรับราชการ สิ่งที่ต้องเจอในด่านแรกก็คือการสอบ ก.พ. ภาค ก. หรือ "การสอบวัดความรู้ทั่วไป" เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะสามารถนำหนังสือรับรองการสอบผ่านไปใช้ยืนยันกับหน่วยงานราชการที่เปิดสมัครตำแหน่งงานต่อไป

โดยการสอบภาค ก. เป็นการสอบที่มีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ สำนักงาน ก.พ. (OCSC) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดสอบในทุกปี โดยจะเปิดรับสมัครในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และจะจัดสอบในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ของทุกปี ซึ่งจะแบ่งระดับตามวุฒิที่ใช้สมัคร โดยมีทั้งหมด 4 ระดับ ดังนี้

1. ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน

2. ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน

3. ระดับปริญญาตรี หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน

4. ระดับปริญญาโท หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน

การสอบภาค ก. เป็นการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป มีด้วยกันทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่

1. การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถประจำปี (Paper & Pencil)
2. การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Exam)
3. การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปสำหรับส่วนราชการต่างๆ (ภาค ก. พิเศษ)


วิชาที่ใช้ในการสอบ

1. วิชาความสามารถและการคิดวิเคราะห์ 100 คะแนน

ระดับต่ำกว่าปริญญาตรีและระดับปริญญาตรี ต้องสอบได้คะแนนมากกว่า 60% และระดับปริญญาโท ต้องสอบได้คะแนนมากกว่า 65%

...

2. วิชาภาษาอังกฤษ 50 คะแนน ทุกระดับต้องสอบได้คะแนนมากกว่า 50%

เป็นความเข้าใจในหลักการสื่อสารภาษาอังกฤษ โดยใช้ศัพท์ สำนวน โครงสร้างประโยคที่เหมาะสม ทั้งในเชิงความหมายและบริบท แสดงถึงความสามารถในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

  • การวัดความสามารถด้านการอ่าน
  • การทำความเข้าใจในสาระของข้อความหรือบทความ
  • การวัดความสามารถด้านการเขียนภาษาอังกฤษในระดับเบื้องต้น

3. วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี 50 คะแนน ทุกระดับต้องสอบได้คะแนนมากกว่า 60%

  • ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
  • หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
  • วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
  • หน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ
  • เจตคติและจริยธรรมสำหรับข้าราชการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบผ่านภาค ก. แล้ว สามารถพิมพ์หนังสือรับรองผลการสอบผ่านๆ ของสำนักงาน ก.พ. ผ่านทางเว็บไซต์ https://job.ocsc.go.th เพื่อนำไปใช้สมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข.) และสอบเพื่อวัดความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค.) ในส่วนราชการต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถทดลองทำข้อสอบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบภาค ก. ได้ โดยคลิกที่นี่

คุณสมบัติและอายุของผู้เข้าสอบ ก.พ. มีดังนี้

  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (ไม่กำหนด อายุสูงสุด)
  • มีสัญชาติไทย
  • ต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาแล้ว หรือผู้ที่กำลังศึกษาชั้นปีสุดท้ายของระดับ ปวช. ปวท. ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี หรือปริญญาโท
  • ผู้สมัครสอบต้องมีคุณสมบัติทั่วไป และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบ ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551