"กรมทรัพยากรธรณี" ตอบแล้ว คำถามที่หลายคนสงสัย "ไดโนเสาร์" เดินอย่างไร ให้มีรอยเท้าอยู่ถึงร้อยล้านปี พร้อมเผยเหตุผลที่ทำให้เกิดรอยเท้า และวิธีตรวจสอบ

วันที่ 6 สิงหาคม 2567 จากกรณีที่ กรมทรัพยากรธรณี ลงพื้นที่ตรวจสอบ หลังมีคนพบร่องรอยบนลานหินลักษณะคล้ายรอยเท้าไดโนเสาร์ ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โดยตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่า เป็นรอยเท้าไดโนเสาร์จริง ในกลุ่มเทอโรพอด ซึ่งมีรอยประทับอยู่บนลานหินทรายและหินโคลน จัดอยู่ในหมวดหินภูพาน ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 120 ล้านปีก่อน ดังที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น (พิสูจน์แล้วเป็นของจริง "รอยเท้าไดโนเสาร์" ที่อุทยานฯ ภูหินร่องกล้า อายุ 120 ล้านปี)

ทำให้เกิดเป็นประเด็นที่หลายคนถกเถียง และตั้งข้อสงสัยกันต่อมาอีกว่า ไดโนเสาร์เดินอย่างไร ทำไมรอยเท้าถึงสามารถอยู่มากว่าร้อยล้านปี แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์จริง

เกี่ยบกับเรื่อง เพจบุ๊ก กรมทรัพยากรธรณี ได้โพสต์อธิบายระบุว่า ธรณีวิทยาน่ารู้ : ไดโนเสาร์ย่ำเดินอย่างไรให้รอยตีนคงอยู่นับร้อยล้านปี

หลายคนคงคุ้นเคยกับการลองเดินเหยียบตามริมหาดทราย เพื่อให้เกิดรอยเท้าทิ้งไว้ แต่ไม่นานเมื่อคลื่นซัดเข้ามารอยนั้นก็เลือนหายไป แล้วรอยตีนของสิ่งมีชีวิตในอดีต ละทำไมถึงคงสภาพอยู่นับร้อยล้านปีได้ หรือต้องตัวหนักกี่ตันถึงจะสร้างรอยบนหินแข็งได้

"รอยตีน" (Footprint) ศัพท์ธรณีวิทยาที่หมายถึงรอยเหยียบประทับของสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ไดโนเสาร์ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ผ่านกระบวนการเกิดร่องรอยซากดึกดำบรรพ์ หรือ "รอยตีน" ที่กินระยะเวลายาวนาน เช่นเดียวกับการกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์แบบอื่น

...

แน่นอนว่าไม่ใช่ที่จู่ๆ สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิสหรือไดโนเสาร์กินเนื้อตัวอื่นๆ จะเดินล่าเหยื่อแล้วเหยียบลงหินจนเกิดรอยตีนในทันทีทันใด แต่กระบวนการนี้ต้องอาศัยเวลาที่เหมาะเจาะที่เมื่อหลายล้านปีก่อนมีสิ่งมีชีวิตเดินย่ำตามริมทางน้ำที่มีตะกอนดินอ่อนนุ่ม และใช้เวลาให้รอยพิมพ์แห้งและแข็งตัวก่อนที่ตะกอนชุดใหม่จะมาปิดทับอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้รอยตีนถูกทำลายไปเสียก่อน 

การเกิดรอยตีนไดโนเสาร์

1. ร่องรอยถูกประทับบนตะกอนที่เปียกชื้น และไม่ถูกทำลายหรือลบเลือน

2. เมื่อสภาวะอากาศแห้งขึ้นทำให้ตะกอนที่มีร่องรอยประทับรอยตีนแข็งตัวและคงรูปตามเดิมไว้

3. ตามริมทางน้ำธรรมชาติจะสะสมตะกอนอย่างช้าๆ และทับถมรอยตีนที่แข็งตัวแล้ว โดยไม่ทำลายร่องรอยเดิม ก่อนจะสะสมตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลาผ่านไปมีตะกอนพัดพามาทับถมปิดรอยเหล่านี้แต่ละปี ทับถมเป็นชั้นๆ และแข็งตัวจนกลายเป็นหินตะกอนในหลายล้านปีต่อมา

4. เวลาต่อมา กระบวนการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกทำให้ชั้นหินตะกอนเหล่านี้ถูกยกตัวขึ้นมาเป็นภูเขาสูง และถูกกัดเซาะโดยฝนและทางน้ำในปัจจุบัน บ้างก็กัดเซาะทำลายตะกอนที่ปิดทับเป็นรอยหล่อ (cast) ออกไป จนทำให้ชั้นหินที่มีรอยพิมพ์ (mold) ที่มีรอยตีนไดเสาร์ประทับอยู่เผยขึ้นมาบนผิวโลกให้เห็นในยุคปัจจุบัน  

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นรอยไหนคือ "รอยตีน"

รอยตีนไดโนเสาร์จะปรากฏลักษณะนิ้วชัดเจน และมีส่วนท้ายเป็นส้น ซึ่งนักธรณีวิทยาจะเปรียบเทียบรอยตีนที่บริเวณปลายนิ้ว หากมีลักษณะแหลมคมเหมือนกรงเล็บ และมีปลายนิ้วแยกออกเป็นนิ้วชัดเจนก็คาดว่าเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์กินเนื้อ

ซากดึกดำบรรพ์ประเภทรอยชีวินอย่างรอยตีนเป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณรูปร่างกายวิภาค และการศึกษา "พฤติกรรม" ของสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ทั้งยังบอกได้ถึงพฤติกรรมส่วนตัว เช่น จังหวะก้าวเดิน ระยะห่าง-ความเร็ว ลากหางหรือยกหาง พฤติกรรมกลุ่มอย่าง การอยู่อาศัย การหาอาหาร อยู่กันเป็นฝูง การล่าเหยื่อ หรือแม้กระทั่งการบอกตำแหน่งทางภูมิศาสตร์แหล่งที่อยู่อาศัยในอดีต 

เพื่อให้เกิดการคุ้มครอง อนุรักษ์ และพัฒนาแนวทางการอนุรักษ์ ซากดึกดำบรรพ์และแหล่งซากดึกดำบรรพ์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 กรมทรัพยากรธรณีมีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการบริหารจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี ในด้านการพัฒนาเผยแพร่องค์ความรู้และบริการข้อมูลวิชาการด้านธรณีวิทยา ทรัพยากรธรณีชากดึกดำบรรพ์ อนุรักษ์ตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์รวมทั้งสำรวจรายละเอียดด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ต่อไป 

ข้อมูลโดย กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ และสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรธรณี