ปิดตำนานราชาเพลงพูด "เพลิน พรหมแดน" ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริอายุ 73 ปี นับเป็นการสูญเสียปูชนียบุคคลด้านดนตรี เพลงลูกทุ่ง เพลงพื้นบ้าน ที่สำคัญของประเทศ

วันที่ 3 ส.ค. 2567 นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้รับการประสานงานว่า นายสมส่วน พรหมสว่าง หรือ เพลิน พรหมแดน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย ลูกทุ่ง) พ.ศ.2555 ได้ถึงแก่กรรม ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ที่ โรงพยาบาลศิริราช เวลาประมาณ 11.10 น. โดยเลขาส่วนตัวแจ้งว่า ก่อนเสียชีวิตในช่วงเช้า นายเพลินได้ล้มลงเฉียบพลัน จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลศิริราช เข้าห้องฉุกเฉิน ปั๊มหัวใจ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด  

นายประสพ กล่าวว่า ตนรู้สึกตกใจอย่างมากเพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้ยังมีการสอบถามถึง ครูเพลิน จาก กลุ่มศิลปินแห่งชาติด้วยกัน ซึ่งบอกว่าครูยังทำงานได้ปกติ ซึ่งนับเป็นการสูญเสียปูชนียบุคคลด้านดนตรี เพลงลูกทุ่ง เพลงพื้นบ้าน ที่สำคัญของประเทศ ซึ่งครูเพลินนับเป็นผู้ที่บุกเบิกการร้องเพลงลูกทุ่ง และพูดได้ อย่างมีเอกลักษณ์โดดเด่น ไปด้วยกันในคราวเดียวกัน ทำให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจในความแหวกแนว สนุกสนาน เพลิดเพลิน 

ทั้งนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมพร้อมที่จะสืบสาน อนุรักษ์ และต่อยอดมรดกภูมิปัญญา และผลงานของครูเพลิน เอาไว้ เบื้องต้นโดยจะร่วมกับมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ และ บริษัท เซเว่นสตาร์ สตูดิโอ จัดประกวดนักร้องเพลงลูกทุ่งประจำจังหวัด เพื่อให้เกิดการค้นหา ศิลปินหน้าใหม่จากทั่วประเทศ ทั้งนี้ สวธ. จะสนับสนุนมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต จำนวน 20,000 บาท ค่าเครื่องเคารพศพ จำนวน 3,000 บาท และเงินค่าจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่ผลงาน จำนวน 150,000 บาท

...

สำหรับนายเพลิน พรหมแดน เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2486 ที่ อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี เริ่มร้องเพลงครั้งแรกในงานสงกรานต์ของหมู่บ้าน จากนั้นได้ร้องเพลงเชียร์รำวง เดินสายประกวดร้องเพลงกับคุณครูจำรัส วิภาตะวัตในรายการแมวมองค้นหาดาวรุ่งและเป็นนักร้องประจำวงดนตรีคณะชุมนุมศิลปิน 

ต่อมาตั้งวงดนตรี เพลิน พรหมแดน มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงเพลงแรก คือ เพลงทุ่งร้างนางลืม และได้บันทึกแผ่นเสียงอีกหลายเพลงเป็นที่ชื่นชอบอย่างกว้างขวาง ต่อมาประพันธ์และขับร้องเอง เช่น เพลงวาสนายาจก อย่าลืมเมืองไทย ชมกรุง มนต์รักบ้านไร่ คำมันสัญญา เพชฌฆาตรัก ร้องเพลงสลับการพูด เพลงข่าวสดสด ผลงานโดดเด่นจนเป็นต้นตำรับของการร้องเพลงประกอบการพูด ทำให้ได้รับฉายา ราชาเพลงพูด 

นอกจากนี้ ยังแสดงภาพยนตร์ เช่น เรื่องฝนใต้ ฝนเหนือ ระเริงชล แค้นไอ้เพลิน ประพันธ์เพลงให้กับนักร้องอื่น รวมทั้งส่งเสริม นักร้องในวงหลายคนให้มีชื่อเสียง และแต่งบทเพลงพุทธประวัติ จากความสามารถที่หลากหลาย จึงได้รับโล่เกียรติยศพระราชทานในฐานะ ศิลปินตัวอย่าง สาขาขานักร้องลูกทุ่ง ประจำปี 2525 ในงานแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 5 ได้รับประกาศเกียรติคุณ ผู้ประพันธ์คำร้องทำนองเพลงลูกทุ่งดีงดีเด่น และผู้ขับร้องเพลงลูกทุ่งดีเด่น เพลงอย่าลืมเมืองไทย งานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติในปี 2555.