ไปดูดาวด้วยกันไหม เปิดตัว 18 พื้นที่ "ดูดาวแห่งใหม่" ขึ้นทะเบียนเป็น "เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยปี 2567" เพื่อส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงทางดาราศาสตร์ ให้กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ

เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความเรื่อง "เปิดตัว 18 พื้นที่ดูดาวแห่งใหม่ ขึ้นทะเบียนเป็น เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ปี 2567 ในโครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 3" โดยระบุว่าประกาศ 18 พื้นที่ดูดาวแห่งใหม่ พร้อมขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยประจำปี 2567 ในโครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 3 เดินหน้าผลักดันการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ต่อเนื่อง ปลุกกระแสการเดินทางมิติใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสความงดงามของธรรมชาติยามค่ำคืน 

นางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. เผยว่า โครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 3 เป็นโครงการส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่องในกลุ่มนักท่องเที่ยวความสนใจพิเศษ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ททท. และ NARIT โดยมุ่งสนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ (Dark Sky Tourism) ให้เป็นหนึ่งในสินค้าการท่องเที่ยวที่สามารถส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวมิติใหม่ การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience-based-Tourism) 

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความหมายให้การเดินทางท่องเที่ยวในเมืองไทยมีคุณค่า แตกต่าง และน่าประทับใจมากกว่าที่เคย ทั้งยังสะท้อนศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวไทยที่มีกิจกรรมท่องเที่ยวหลากหลาย ตอบโจทย์ความสนใจของนักท่องเที่ยวอย่างครอบคลุม สอดรับกับแนวทางการขับเคลื่อนปีท่องเที่ยวไทย 2567 และแคมเปญสุขทันที ที่เที่ยวไทย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 365 วัน

...

โอกาสนี้ ททท.เล็งเห็นประโยชน์ของการต่อยอดประชาสัมพันธ์เจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่มความสนใจพิเศษ ผู้ที่สนใจดาราศาสตร์ ชื่นชอบการดูดาว และนักท่องเที่ยวทั่วไป ให้ออกเดินทางไปรับความสุขท่ามกลางธรรมชาติสัมผัสความสวยงามของท้องฟ้าประเทศไทย ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก หรือชมความสวยงามของกลุ่มดาวจักรราศี และดวงดาวต่างๆ ที่ปรากฏในท้องฟ้าแต่ละเดือน 

นอกจากจะตื่นตาตื่นใจท้องฟ้าในยามค่ำคืน ณ สถานที่ดูดาวทั่วทุกภูมิภาคของไทย ยังเติมเต็มประสบการณ์การท่องเที่ยว ทั้งยังสอดแทรกความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ และนำไปสู่การออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ หมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึง อันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT เป็นหน่วยงานด้านดาราศาสตร์ และพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง มีหนึ่งพันธกิจหลักสำคัญ คือ ให้บริการวิชาการ สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ และสื่อสารดาราศาสตร์สู่สังคม เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

ทั้งนี้ NARIT ได้ดำเนินโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง อนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า และให้ความสำคัญในการประหยัดพลังงานและปรับพฤติกรรมการใช้แสงไฟ เป็นผลให้ในปี พ.ศ. 2565-2566 เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย จำนวน 30 แห่ง นับเป็นพื้นที่นำร่องปลุกกระแสความสนใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์ที่จะนำมากระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงทางดาราศาสตร์ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ และเป็นสถานที่ถ่ายภาพสำหรับกลุ่มนักดาราศาสตร์สมัครเล่น จึงผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท

1. อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม รักษาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศ 

2. ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน เทศบาล ตำบล ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ภายใต้ความร่วมมือและสนับสนุนจากประชาชน 

3. เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น รีสอร์ต โรงแรม ฟาร์ม ศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ ที่รักษา และสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ไม่มีมลภาวะทางแสง มีความปลอดภัย 

4. เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง มีลักษณะเป็นลานโล่ง มีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง สามารถสังเกตปรากฏการณ์และจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางดาราศาสตร์ 

เกณฑ์การพิจารณา คัดเลือกพื้นที่เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด มีดังนี้

  • ต้องมีพื้นที่โล่งไม่น้อยกว่า 100 ตารางเมตร 
  • สังเกตการณ์ท้องฟ้าได้โดยรอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ 
  • บริหารจัดการปริมาณแสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพใน 3 ปัจจัย ได้แก่ ทิศทางแสง อุณหภูมิแสงสว่าง การควบคุมเวลาเปิดปิด 
  • ปราศจากแสงรบกวน ค่าความมืดท้องฟ้ามีค่าไม่น้อยกว่า 19 แมกนิจูด/ตารางฟิลิปดา 
  • สามารถสังเกตเห็นดาวเหนือได้และสังเกตเห็นดาวฤกษ์ที่สว่างน้อยที่สุด หรือวัตถุท้องฟ้าเด่นๆ ได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน และต้องมีผู้ให้บริการความรู้พื้นฐานทางดาราศาสตร์ 
  • มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการอย่างครบถ้วน อาทิ เส้นทางคมนาคม ห้องนำ ที่พัก ร้านอาหาร จุดบริการไฟฟ้า ฯลฯ

ในปี 2567 มีพื้นที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 18 แห่ง จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2567 พร้อมรับมอบสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สนับสนุนการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่สนใจต่อไป 

ทั้งนี้ ในอนาคต สดร.ตั้งเป้าผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สำหรับหน่วยงาน โรงแรม รีสอร์ต ชุมชน ศูนย์วิทยาศาสตร์ หรือพิพิธภัณฑ์ ทั่วประเทศที่สนใจ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยได้ที่นี่

รายชื่อสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2567 จำนวน 18 แห่ง มีดังนี้

  • อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park)

1. สวนป่าบ้านวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ : จ.เชียงใหม่

2. อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ : จ.แม่ฮ่องสอน

3. อุทยานแห่งชาติตาดโตน : จ.ชัยภูมิ

4. อุทยานแห่งชาติไทรทอง : จ.ชัยภูมิ

5. อุทยานแห่งชาติภูผายล : จ.สกลนคร

6. อุทยานแห่งชาติภูเวียง : จ.ขอนแก่น

  • ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities)

1. วัดมกุฏคีรีวัน เขาใหญ่ : จ.นครราชสีมา

  • เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties)

1. ฉ่าเก่อปอ : จ.เชียงใหม่        

2. พร้าวแคมป์ปิ้งค์ : จ.เชียงใหม่

3. ฮ่อมลมจอย : จ.เชียงราย

4. ภาวนานิเวศน์ แคมป์ : จ.นครสวรรค์

5. ภูคำหอม เขาใหญ่ : จ.นครราชสีมา

6. สวนไพลินชมดารา : จ.นครราชสีมา

7. อุ่นฟ้าอิงดาวแคมป์ปิ้ง : จ.นครราชสีมา

8. โรงแรมโซเนวา คีรี : จ.ตราด

9. บ่อแสน วิลล่า แอนด์ สปา : จ.พังงา

10. อธิ การ์เด้นท์ แคมป์ปิ้ง : จ.พังงา

  • เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbes)

1. สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ชลบุรี : จ.ชลบุรี.

ขอบคุณเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ